สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับข่าวดีปนข่าวร้ายจากตัวเลข CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภคที่ 7.1% ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และต่ำกว่าตัวเลขในเดือนก่อนหน้าที่ 7.7%
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ Fed เพิ่งประกาศเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นไปตามความคาดหมาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อชะลอเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับขึ้นอีก 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 4.25%-4.5% นับว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี
ซึ่งการเลือกใช้นโยบายการเงินเข้มงวดแบบต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปนี้ ก็ไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯเท่านั้น โดย Bank of England และ European Central Bank (ECB) เองก็ประกาศที่จะปรับอัตราขึ้นอีกเรื่อยๆ แม้ว่าอาจจะไม่ปรับในอัตราเร่งที่สูงเหมือนที่ผ่านมาก็ตาม
ท่ามกลางความกังวลของสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดจะมาเยือนในปีหน้า ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างปิดตัวติดลบในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี Dow Jones ปิดที่ -1.7% S&P 500 ปิดที่ -2.1% Nasdaq ปิดที่ -2.7% ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษ ปิดที่ -1.9% Euro Stoxx 50 ปิดที่ -3.5% Nikkei 225 ปิดที่ -1.3% และ SET ไทย ปิดที่ -1.2%
ส่วนทองคำ มีการดีดตัวขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยปิดตัวที่ +0.9% ซึ่งมีการปรับตัวขึ้นลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยในหลายๆประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังคงความเข้มงวดอยู่
โดยทางด้าน US Dollar Index มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยปิดตลาดที่ +0.2% เป็นผลมาจากประกาศของ Fed รวมถึงความกังวลของนักลงทุนที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนยังเลือก USD เป็น Safe haven
ทางด้านตลาดน้ำมันปิดตัว -2.1% หรือ $74.5/ บาร์เรล สำหรับ Crude Oil WTI และ -2.4% หรือ $79.26/ บาร์เรลสำหรับ Brent Oil เป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้า รวมถึงสถานการณ์โควิดในจีน ที่ก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลจีนมีแผนที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดรวมถึงเปิดประเทศอาจมีอันต้องเลื่อนออกไปหากสถานการณ์โควิดในจีนกลับมาควบคุมไม่ได้อีกครั้ง
และเมื่อซัพพลายของน้ำมันขาดแคลนกระทันหันใน North America อันเป็นผลพวงมาจาก Keystone หรือการปิดท่อลำเลียงน้ำมันจาก Alberta แคนาดา มายัง Midwest และ Gulf Coast สหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงขาดแคลนแรกๆเหมือนจะมีแรงหนุนปรับขึ้น แต่ก็ถูกสกัดลงเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯมีท่าทีที่จะให้ SPR (The US Strategic Petroleum Reserve) ทำสัญญากู้ยืมน้ำมันแก่บริษัทพลังงานภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่ได้รับแรงหนุนจาก Supply shortage มากนัก
อย่างไรก็ดี หากคำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่าง
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับลงเล็กน้อยในสหรัฐฯ
2. อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงในหลายๆประเทศ
3. ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า
4. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกครั้ง
5. U.S. shale (oil) supply
ทิศทางหรือแนวโน้มตลาดในสัปดาห์หน้าไปจนถึงต้นปีหน้า
ปัจจัยหลักของทิศทางตลาดหุ้นจะมาจากปัจจัยอย่างนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งการที่ปัจจุบันหลายๆประเทศได้เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดกันมากขึ้น ส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมหรือ Borrowing costs ของแต่ละบริษัทสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าหากหลายๆบริษัทที่ไม่ได้มีกำไรมากพอที่จะใช้ประโยชน์จากการนำค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยไปลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax shield) แล้วนั้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวมเสียเท่าไร
นอกจากนี้ เมื่อนักลงทุนโยกเงินลงทุนไปที่ Less risky assets หรือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและเปราะบาง จึงทำให้ทิศทางของ US Dollar Index และทองคำ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย แต่ทว่าการลงทุนใน US Dollar Index ก็ยังคงถูกจำกัดด้วยคู่สกุลเงินประเทศอื่นๆที่มีการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเช่นกัน
ทางด้านทองคำเอง แม้จะยังคงถูกกดดันด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น และตลาดบอนด์ที่ให้บอนด์ยีลด์สูงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่เราก็อาจจะยังได้เห็นการปรับขึ้นของราคาทองคำอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากตลาดบอนด์ปัจจุบันที่มีราคาสูงขึ้น และผลตอบแทนจากยีลด์ที่ต่ำลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่เริ่มสูงในตลาดบอนด์ และความกังวลใน Real yield อย่างไรก็ตาม เราก็คงต้องมาติดตามทิศทางและข่าวในช่วงต้นปีหน้าถึงช่วงตรุษจีนกันอีกที
ส่วนทางด้านทิศทางตลาดน้ำมัน จะพบว่าแม้จะมีปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างเช่นกันที่ Offset หรือกดราคาน้ำมันลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันนั้นมีแนวโน้มทรงๆ ขึ้นลงไม่หวือหวามากนัก
ยกตัวอย่างปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันในช่วงนี้ เช่น สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในจีน หรือแม้แต่รัสเซียที่ขายน้ำมันให้กับบางประเทศเพื่อหาเงินทุนสำหรับสงคราม
ส่วนปัจจัยหนุน เช่น ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่เริ่มเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตราการโควิด หรือ OPEC ลดปริมาณการผลิตน้ำมัน รวมถึงลดระดับน้ำมันที่คาดการณ์ว่า U.S. shale จะผลิตหรือซัพพลายได้ในปีหน้า ซึ่งก็จะส่งผลให้ OPEC มีบทบาทในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันมากขึ้นนั่นเอง
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog