BoJ เดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อ
จากข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นหรือ CPI ในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ แตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี ท่ามกลางต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทต่างๆ ส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับภาคครัวเรือน สร้างแรงกดดันมากขึ้นต่อธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BoJ) ที่อาจเพิ่มความเข้มงวดด้านนโยบายการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่านวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารคนใหม่
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของประเทศ หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมสินค้าที่ผันผวน เช่น อาหารสดและเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับ 4% ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่รวมสินค้าผันผวน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนมกราคมจาก 4% ในเดือนก่อนหน้า
โดยจากข้อมูลครั้งนี้ นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาแพงขึ้น โดยต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้นถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดของอัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกหยุดชะงัก กอปรกับการพึ่งพาการนำเข้าอาหารและเชื้อเพลิงจากต่างประเทศของญี่ปุ่นเป็นปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในประเทศครั้งนี้
ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภคพุ่งขึ้น 14% ราคาก๊าซพุ่งขึ้น 24.3% ในขณะที่ราคาอาหารพุ่งขึ้นกว่า 7% โดยอาหารสดเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาสูงขึ้นในเดือนมกราคม
แม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วได้ แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้อย่างที่คาดหวังไว้ เนื่องจากการลงทุนในภาคธุรกิจที่ลดลง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็กำลังเผชิญกับกระแสค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวที่ล่าช้าของญี่ปุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ จากผลการสำรวจองค์กรรายเดือนของรอยเตอร์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนิกเคอิรีเสิร์ชระหว่างวันที่ 8-17 ก.พ. ซึ่งได้ทำการสำรวจบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินของญี่ปุ่น 493 แห่ง บริษัทญี่ปุ่นเกือบครึ่งหนึ่ง ให้ความเห็นว่า BoJ ควรแก้ไขนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ในขณะที่มากกว่าหนึ่งในสี่กล่าวว่า ควรเปลี่ยนกรอบอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2% และมีเพียง 9% เท่านั้นที่กล่าวว่า BoJ ควรยกเลิกนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ซึ่งปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะถูกนักเก็งกำไรเข้าซื้อขายทำลายเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ได้ ถึงกระนั้น บริษัทส่วนใหญ่กว่า 62% กล่าวว่าการปรับนโยบายการเงินเป็นแบบปกติจะไม่ส่งผลดีหรือผลเสียต่อธุรกิจของตน
อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตามองทิศทางนโยบายการเงินจากผู้ว่าการ BoJ คนใหม่อย่าง คาซูโอะ อูเอดะ ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านแรงกดดันด้านราคาที่สูงขึ้น โดยล่าสุดได้กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เป็นการเหมาะสมที่จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเป็นพิเศษไว้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ 2% ของธนาคารกลางได้อย่างยั่งยืน
โดยเมื่อเช้าวันศุกร์นี้ อูเอดะให้ความเห็นผ่านการประชุมรัฐสภาถึงดัชนีราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น มากกว่าอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง และเป็นการปฏิบัติตามหลักการ ที่จะต้องรีบออกมาตรการสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ แต่ไม่ใช่กับอัตราเงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนด้วยอุปทานในทันที มิฉะนั้นจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจแย่ลงได้
ทางด้านคู่สกุลเงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในวันพฤหัสบดี และมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึง ณ ตอนนี้ ยังไม่มีข้อมูลหรือตัวแปรสำคัญที่จะสามารถหยุดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงนี้ลงได้ บ่งชี้ถึงแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯที่อาจมีขึ้นอีก 3 ครั้งอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5H) CFD USD/JPY
แนวต้านสำคัญ : 134.90, 135.10, 135.41
แนวรับสำคัญ : 134.28, 134.08, 133.77
5H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 134.18 – 134.28 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 134.28 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 135.11 และ SL ที่ประมาณ 134.13 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 134.90 – 135.00 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 135.41 และ SL ที่ประมาณ 134.23 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 134.90 – 135.00 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 134.90 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 134.28 และ SL ที่ประมาณ 135.05 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 134.18 – 134.28 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 133.77 และ SL ที่ประมาณ 134.95 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Feb 24, 2023 01:22PM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 133.46 | 133.77 | 134.28 | 134.59 | 135.11 | 135.41 | 135.93 |
Fibonacci | 133.77 | 134.08 | 134.28 | 134.59 | 134.90 | 135.10 | 135.41 |
Camarilla | 134.56 | 134.63 | 134.71 | 134.59 | 134.86 | 134.94 | 135.01 |
Woodie's | 133.56 | 133.82 | 134.38 | 134.64 | 135.21 | 135.46 | 136.03 |
DeMark's | - | - | 134.43 | 134.66 | 135.25 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2, Investing 3
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog