แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ล่าสุด
จากรายงานการประชุมของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นที่เปิดเผยเมื่อวันพุธ นอกจากจะมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ที่แนวโน้มยังคงอยู่ในระดับต่ำแล้ว คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าอัตราเงินเฟ้อและค่าจ้างมีแนวโน้มสูงเกินความคาดหมาย และอาจแนะนำให้ยุติมาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อคาซูโอะ อูเอดะสืบทอดตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารในเดือนหน้า แต่ในทางกลับกัน คณะกรรมการยังคงมองเห็นความเสี่ยงที่บริษัทต่างๆ จะล้มเหลวในการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นจำนวนที่มากพอที่จะขจัดภาวะเงินฝืดที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจและในความคิดของประชาชนได้
ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น ฮารุฮิโกะ คูโรดะ ซึ่งมีกำหนดเกษียณอายุในเดือนเมษายน ได้กล่าวว่า การเริ่มใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษที่ยาวนานกว่าทศวรรษ และการอัดฉีดเงินจำนวน 3.7 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นความคาดหวัง (Expectation) ในเศรษฐกิจในทางบวกให้กับประชาชน ประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ได้รับทั้งการยกย่องว่าเป็นการดึงเศรษฐกิจออกจากภาวะเงินฝืด และการติเตียนว่ามีส่วนทำให้ผลกำไรของภาคธุรกิจธนาคารตึงตัว ทั้งยังส่งผลให้การทำงานของตลาดบิดเบี้ยวด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ดี BoJ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเติบโตของค่าจ้างเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อคงที่และสามารถจัดการได้ โดยให้เหตุผลว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาเมื่อเร็วๆ นี้มาจากปัจจัยภายนอกที่ผันผวนอย่าง ต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้น มากกว่าอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้น
ล่าสุด บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นตกลงที่จะขึ้นค่าจ้างมากที่สุดในรอบ 25 ปีในการเจรจากับสหภาพแรงงานประจำปีซึ่งปิดฉากไปเมื่อวันพุธ จากการที่นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเพื่อชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างของญี่ปุ่นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 และปัจจุบันยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD
จากการสำรวจของ Japan Economic Research Center บริษัทขนาดใหญ่คาดว่าจะขึ้นค่าจ้างประมาณ 2.85% ครอบคลุมทั้งฐานเงินเดือนและการจ่ายโบนัส แต่สำหรับพนักงานในบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 70% ของแรงงานทั้งหมดในญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่อาจไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กมักประสบปัญหาในการส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับลูกค้ามากกว่าบริษัทใหญ่ๆ
ทางด้านการส่งออกของญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น +6.5% ในเดือนกุมภาพันธ์จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ +7.1% และเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น +8.3% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ +12.2% ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้า 897.7 พันล้านเยน (6.75 พันล้านดอลลาร์) แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ 1.069 ล้านล้านเยน
ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด เงินดอลลาร์ และเงินเยนดีดตัวขึ้นเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดหันไปลงทุนในสกุลเงินที่ปลอดภัยทั้งสองสกุล (Safe haven) เนื่องจากความกลัวต่อวิกฤตการธนาคารทั่วโลก หลังจากการการล้มของธนาคาร Silicon Valley ในสหรัฐ ได้ลุกลามไปถึงธนาคาร Credit Suisse ของสวิสฯ ที่หุ้นของธนาคารดังกล่าว ได้ร่วงลงมากถึง 30% ในวันพุธ หลังจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดกล่าวว่าไม่สามารถให้การสนับสนุนแก่ธนาคารได้
ปัจจุบัน นักลงทุนจึงยังคงเฝ้าระวังและจับตามองความชัดเจนและผลกระทบของวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือจากทางการยังคงล้มเหลวในการช่วยบรรเทาความหวาดกลัวที่เพิ่มสูงขึ้นจนถึงตอนนี้ รวมถึงพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินจากธนาคารกลางหลักทั่วโลกในการสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ก่อให้เกิดการสั่นคลอนของภาคการเงิน
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก และเป็นสินทรัพย์ตัวแทนสำหรับการคาดการณ์นโยบายของเฟด ได้ลดลงมากกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ สูงสุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Monday ในเดือนตุลาคม 1987 และจากนั้น ได้ฟื้นตัวขึ้นมาประมาณ 30 จุด โดยราคาสัญญาฟิวเจอร์ส FFR เดือนธันวาคมร่วงลงเหลือ 3.767% จากประมาณ 5% ในสัปดาห์ที่แล้ว แสดงให้เห็นว่ามีโอกาสที่เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ และอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดน่าจะอยู่ที่ช่วงเป้าหมายต่ำกว่า 4% ภายในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์เมื่อเดือนธันวาคมว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 5.1% และสัปดาห์ที่แล้วที่มากกว่า 5.5%
ทั้งนี้ แนวโน้มผลกระทบจากความเสียหายและความวุ่นวายในภาคธนาคารล่าสุด เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวครั้งต่อไปของเฟด และผลกระทบที่แท้จริงที่ยังไม่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก ณ ขณะนี้ ส่งผลดีต่อเงินดอลลาร์และเงินเยนชั่วคราว โดยคาดว่าเงินดอลลาร์จะยังคงแข็งค่ากว่าเงินเยนอยู่เล็กน้อย เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสหรัฐฯที่ยังคงสูงกว่าญี่ปุ่น โดยปรับขึ้นลงตามทิศทางนโยบายและข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจที่จะเผยแพร่เพิ่มเติมต่อจากนี้
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5H) CFD USD/JPY
แนวต้านสำคัญ : 133.39, 133.63, 134.00
แนวรับสำคัญ : 132.65, 132.41, 132.04
5H Outlook
1H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 132.57 – 132.65 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 132.65 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 133.45 และ SL ที่ประมาณ 132.53 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 133.39 – 133.47 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 133.80 และ SL ที่ประมาณ 132.60 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 133.39 – 133.47 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 133.39 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 132.60 และ SL ที่ประมาณ 133.51 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 132.57 – 132.65 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 132.20 และ SL ที่ประมาณ 133.44 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Mar 16, 2023 11:55AM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 131.58 | 132.04 | 132.55 | 133.02 | 133.53 | 134.00 | 134.51 |
Fibonacci | 132.04 | 132.41 | 132.65 | 133.02 | 133.39 | 133.63 | 134.00 |
Camarilla | 132.80 | 132.89 | 132.98 | 133.02 | 133.15 | 133.24 | 133.33 |
Woodie's | 131.60 | 132.05 | 132.57 | 133.03 | 133.55 | 134.01 | 134.53 |
DeMark's | - | - | 132.29 | 132.89 | 133.27 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2, Investing 3
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog