Harmonic Pattern หรือวิธีการวิเคราะห์กราฟที่มีความแม่นยำสูงยิ่งกว่า Chart Pattern ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรดให้กับเทรดเดอร์อย่างมาก หากสามารถที่จะเข้าใจมันได้อย่างถูกต้อง
Harmonic Pattern คืออะไร ?
Harmonic Pattern เป็นรูปแบบกราฟอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อนกว่า Chart Pattern ที่จะอาศัยตัวเลขอัตราส่วนของ Fibonacci และมีผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบของเรขาคณิต เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้กับการวิเคราะห์ และการคาดการณ์การเคลื่อนที่ของราคาในอนาคต ซึ่งจะกำหนดจุด X,A,B,C โดยที่จะมีจุด D เป็นจุดที่บ่งบอกสัญญาณการกลับตัวของราคา (PRZ) โดย Harmonic Pattern ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1932 โดยนักลงทุนที่มีชื่อว่า “Harold McKinley Gartley” ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เทคนิคนี้สามารถที่จะใช้ได้กับการลงทุนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในตลาด Forex
Harmonic Pattern มีความสำคัญอย่างไรกับการเทรด Forex ?
การนำ Harmonic Pattern เข้ามาบทบาทหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์กราฟ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรดอย่างมากเลยทีเดียว เนื่องจากว่าเทรดเดอร์จะสามารถที่จะคาดการณ์จุดกลับตัวของราคาได้อย่างแม่นยำ ด้วยการอาศัยรูปแบบเรขาคณิตที่สร้างจากรูปแบบกราฟ
รูปแบบต่าง ๆ ของ Harmonic Pattern
Harmonic Pattern จะมีรูปทรงที่คล้าย ๆ กัน โดยแต่รูปแบบก็จะมีชื่อเรียกและความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งรูปแบบแรกเริ่มเดิมที คือ ‘รูปแบบของ Gartley’ ซึ่งถูกนำไปประยุกต์เป็นรูปแบบต่าง ๆ โดยนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีการบอกจุดกลับตัวทั้งขาขึ้นและขาลง จากการอ้างอิงจุดกลับตัวตามอัตราส่วนที่สำคัญตามตัวเลข Fibonacci และมีจุด D ที่เป็นสัญญาณการกลับตัวในทุก ๆ รูปแบบ หากสามารถเข้าใจเทคนิคและวิธีการใช้งาน ก็จะนำไปใช้เทรดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรูปแบบของ Harmonic Pattern จะแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. Gartley
รูปแบบ Gartley เป็นรูปแบบต้นฉบับที่มาจากผู้คิดค้นแนวคิดนี้ โดยรูปแบบของ Gartley จะมีการวิเคราะห์อยู่ 2 ทาง ได้แก่
1. Bearish Gartley (การส่งสัญญาณกลับตัวเป็นขาลง) : ราคาจากจุด X มีการปรับตัวลงมาที่จุด A ซึ่งกลายมาเป็นแนวรับ และมีการปรับตัวขึ้นมาที่จุด B ที่เป็นแนวต้านในระดับอัตราส่วน 0.618 เมื่อวัดจากจุด XA หลังจากนั้นได้มีการปรับตัวลงไปยังจุด C ที่เป็นแนวรับในระดับอัตราส่วน 0.382-0.886 เมื่อวัดจากจุด AB โดยจุด D จะต้องมีการปรับตัวขึ้นสูงกว่าจุด B และต้องอยู่ในระดับแนวต้านสำคัญที่อัตราส่วน 0.786 เมื่อวัดจากจุด X หากกราฟมีการฟอร์มตัวตามรูปตัวอย่างแรก ภายใต้เงื่อนไขที่จุด D มีการปฏิเสธการขึ้นต่อ สามารถหาจังหวะเข้า Sell ได้จากบริเวณดังกล่าว
2. Bullish Gartley (การส่งสัญญาณกลับตัวเป็นขาขึ้น) : ราคาจากจุด X มีการปรับตัวขึ้นไปที่จุด A ซึ่งเป็นระดับแนวต้านที่ทำให้ราคามีการปรับตัวลงไปที่จุด B ที่เป็นแนวรับ ในอัตราส่วนที่ 0.618 ส่งผลให้ราคามีการรีบาวน์ขึ้นไปที่จุด C ซึ่งเป็นบริเวณแนวต้านในอัตราส่วน 0.382-0.886 เมื่อวัดจากจุด AB ซึ่งทำให้เกิดแรงขายในบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ราคามีการปรับตัวลงไปที่จุด D ในระดับอัตราส่วนที่ 0.786 เมื่อวัดจากจุด X ซึ่งเป็นบริเวณแนวรับสำคัญ หากกราฟมีการฟอร์มตัวตามตัวอย่างในรูปที่สอง ภายใต้เงื่อนไขที่จุด D มีการปฏิเสธการลงต่อ สามารถหาจังหวะเข้าได้จากบริเวณดังกล่าว
**การอธิบายข้างต้น จะเป็นการอธิบายอย่างละเอียด เพื่อเป็นการปูพื้นฐานไปยังรูปแบบที่เหลือ
2. Butterfly
รูปแบบ Butterfly ด้วยสัดส่วนทองคำที่ใช้กับรูปแบบกราฟผีเสื้อนี้ ทำให้ลากเส้นต่อจุดแล้วให้รูปเหมือนกับผีเสื้อที่กำลังกระพือปีก ถูกคิดค้นขึ้นโดย Bryce Gilmore โดยจะมีอัตราส่วน Fibonacci ดังนี้
ระดับราคาวิ่งไปที่จุด B ในอัตราส่วน 0.786 เมื่อวัดเทียบกับจุด XA หลังจากนั้น ราคาขยับจากจุด B ไปยังจุด C ในระดับอัตราส่วน 0.382 ถึง 0.886 ของเส้น AB ก่อนที่ราคาจะวิ่งมาถึงจุด D ราคาตามเส้น CD ในอัตราส่วน 1.618 ถึง 2.4 ของเส้น AB และจุด D จะต้องมีอัตราส่วนที่วัดจากเส้น XA อยู่ที่ 1.27
3. Bat
รูปแบบ Bat หรือรูปแบบค้างคาว ถูกคิดค้นขึ้นในปี 2001 โดย Scott Carney โดยจะมีอัตราส่วน Fibonacci ดังนี้
ระดับราคาวิ่งไปที่จุด B ในอัตราส่วนที่ 0.382 ถึง 0.5 ของเส้น XA หลังจากนั้น ราคาขยับจากจุด B ไปยังจุด C ในระดับอัตราส่วนที่ 0.382 ถึง 0.886 ของเส้น AB ก่อนที่ราคาจะวิ่งมาถึงจุด D ราคาตามเส้น CD ในอัตราส่วน 1.618 ถึง 2.618 ของเส้น AB และจุด D จะต้องมีอัตราส่วนที่วัดจากเส้น XA อยู่ที่ 0.886
4. Crab
รูปแบบ Crab หรือรูปแบบปู ที่ถูกคิดค้นโดย Scott Carney เช่นเดียวกันกับรูปแบบ Bat โดยรูปแบบนี้จะช่วยให้เทรดเดอร์สามารถที่จะหาจุดที่สูงสุดหรือต่ำสุดของราคาได้ โดยจะมีอัตราส่วน Fibonacci ดังนี้
ระดับราคาวิ่งไปที่จุด B ในอัตราส่วน 0.382 ถึง 0.618 ของเส้น XA หลังจากนั้น ราคาขยับจากจุด B ไปยังจุด C ในระดับอัตราส่วน 0.382 ถึง 0.886 ของเส้น AB ก่อนที่ราคาจะวิ่งมาถึงจุด D ราคาตามเส้น CD ในอัตราส่วน 2.618 ถึง 3.618 ของเส้น AB และจุด จะต้องมีอัตราส่วนที่วัดจากเส้น XA อยู่ที่ 1.618
ข้อดีและข้อเสียของ Harmonic Pattern
ข้อดี
- ช่วยให้คาดการณ์การเคลื่อนที่ของราคาในอนาคตได้อย่างแม่นยำ
- ช่วยในการวิเคราะห์หาจุดกลับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อเทียบกับเทคนิคการวิเคราะห์อื่น ๆ
- สามารถใช้เทคนิคอื่น ๆ เข้ามาร่วมวิเคราะห์ได้
ข้อเสีย
- รูปแบบของ Harmonic Pattern มีความคล้ายคลึงกันมาก หากไม่ชำนาญ อาจจะทำให้การวิเคราะห์เกิดความผิดพลาดได้
- มีรูปแบบการวิเคราะห์ที่ค่อนข้างซับซ้อน จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานมาก่อน
สรุป
Harmonic Pattern เป็นรูปแบบกราฟลากจากจุด X ไปยังจุด D เพื่อที่จะหาจุดกลับตัวของราคา ซึ่งจะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน และมีเทคนิคในการวิเคราะห์ค่อนข้างที่จะซับซ้อน ส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือนี้ คือ ระดับอัตราส่วนที่เกิดจากการลากเครื่องมือนี้ ตัวเลขทศนิยมที่จะเกิดขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องมีความใกล้เคียงและมีรูปแบบที่คล้ายกับในรูปที่ได้ยกตัวอย่างไป ซึ่งเทรดเดอร์จะต้องทำความเข้าใจกับเครื่องมือนี้ เนื่องจากเป็นเครื่องที่แม้แต่เซียนยังวิเคราะห์พลาดได้
อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ไม่ได้ช่วยให้เทรดแม่นยำ 100% เพราะตลาด ไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ มีแต่เราเท่านั้นที่จะต้องหมั่นฝึกฝน และทำความเข้าใจการกระทำของตลาด
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog