วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก
Create at 2 years ago (Dec 09, 2022 12:57)

ถ้าหากฐานไม่มั่นคง แล้วยอดจะมั่นคงได้อย่างไร? เชื่อว่า คำพูดประโยคนี้น่าจะใช้ได้กับหลาย ๆ สถานการณ์ รวมถึงเรื่องการเงินด้วยเช่นกัน เพราะหนึ่งในวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดที่โลกต้องจารึกไว้อย่าง “วิกฤตซับไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์” ก็มาจากประโยคข้างต้น วันนี้เราจะมาเรียนรู้บทเรียนครั้งสำคัญของอเมริกาที่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วโลกพร้อมกันครับ

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

 

ทำความรู้จักวิกฤตซับไพร์ม

วิกฤตซับไพร์ม (Subprime Crisis) หรือบางครั้งเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) เป็นวิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯ ที่มีความรุนแรงมาก จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก และอาจรุนแรงที่สุดในรอบหลายร้อยปี โดยวิกฤตดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายน 2008 จากการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามนัด หรือที่เราเรียกกันว่า “ซับไพร์ม

 

สาเหตุการเกิดวิกฤตซับไพร์ม

แม้ว่าข้างต้นจะอธิบายถึงสาเหตุคร่าว ๆ ไปแล้ว แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตดังกล่าวมาจากหลายภาคส่วน ซึ่งเราจะขอสรุปเป็น 2 ส่วน ดังนี้

 

ส่วนที่เป็นสาเหตุที่แท้จริง

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ช่วงปี 1990-2017

 

1) การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ต้นเหตุที่แท้จริงเริ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2001 ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยในขณะนั้นเป็นขาลง จาก 6.5% ในปี 2000 เป็น 1.75% ในปี 2002 ส่งผลให้ประชาชนกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรและอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น เพราะดอกเบี้ยถูกลง ขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้น ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นช่องทางให้นักลงทุน นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตลอดจนสถาบันการเงินต่าง ๆ ฉกฉวยผลประโยชน์ได้

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก
 
การประกาศขายบ้านพัก

 

2) การบริหารจัดการสินเชื่อคุณภาพต่ำ

ด้วยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าเท่าตัวในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ทำให้มันกลายเป็นธุรกิจเก็งกำไรชนิดหนึ่ง เพราะคนจำนวนมากมองว่า อสังหาริมทรัพย์เป็น Safe Asset ที่น่าลงทุน อีกทั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ยังจัดอันดับให้ธุรกิจประเภทนี้เป็น AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ดังนั้น การซื้อขายบ้านจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สถาบันการเงินเริ่มเล็งเห็นถึงช่องทางทำกำไรจากการกินส่วนต่างที่สูงขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการในการพิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้าชั้นรอง (Subprime) ที่เครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี และมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้หรือมีความเสี่ยงสูง แทนที่จะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าชั้นดี (Prime) สุดท้ายแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและคืนเงินที่กู้ไปได้ ทำให้ทิ้งการผ่อนไป ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงเริ่มปรับตัวลง เกิดเป็นหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างมหาศาลในที่สุด

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลกการลงทุนใน MBS และ CDO

 

3) การเก็งกำไรของสถาบันการเงินและนักลงทุน

จากที่กล่าวไป ธุรกิจสินเชื่อค่อนข้างเฟื่องฟูมากเป็นพิเศษในยุคนี้ จนทำให้นักลงทุนหัวใสบางคนคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่อย่าง MBS (Mortgage-Backed Securities) และ CDO (Collateralized Debt Obligations) ซึ่งเป็นการเก็งกำไรจากการมัดรวมสินเชื่อในหมู่นักลงทุนรายใหญ่และสถาบันทางการเงิน ทำให้เมื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งล้มไปก็อาจจะฉุดบริษัทและตลาดหุ้น รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกดิ่งลงเหวตามไปด้วย

 

ส่วนที่เป็นสาเหตุรอง

สาเหตุข้างต้นถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ แต่ก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ เข้ามาสนับสนุนให้เหตุการณ์ร้ายแรงยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือ

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

 

1) การจัดอันดับความน่าเชื่อถือสินเชื่อจากบริษัทจัดอันดับ

อีกสาเหตุที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดอันดับที่ให้เรทติ้งสูงถึง AAA เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีตัวเปรียบเทียบที่แน่ชัด ทำให้การจัดอันดับเป็นไปได้ยาก และเมื่อประสบปัญหาก็ไม่รู้ว่าควรปรับลดเท่าไหร่ อย่างไร มันจึงเป็นแรงชักจูงให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนแสวงหาความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

 

2) การรับประกันความเสี่ยงจากบริษัทประกัน

ส่วนอีกสาเหตุที่เป็นแรงดึงดูดนักลงทุน ก็คือ การรับประกันความเสี่ยงจากบริษัทประกันที่เปรียบเสมือนการเข้ามาอุดรอยรั่วของวงโคจรอสังหาริมทรัพย์ เพราะหากลูกค้าชั้นรองทิ้งการผ่อนไป บริษัทประกันจะทำหน้าที่แบกรับส่วนที่เหลือต่อ ทำให้สินทรัพย์ประเภทนี้ดูเหมือนไร้ความเสี่ยง มีแต่อนาคตที่รุ่งโรจน์ นักลงทุน บริษัท รวมถึงสถาบันการเงินจำนวนมากจึงเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์นี้

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

 

3) ความช่วยเหลือจากหน่วยงานกำกับดูแลที่ล่าช้า

กว่าจะรู้ตัวว่าสายเกินไป บริษัทที่ร่วมลงทุน รวมถึงบริษัทประกันก็ล้มลงไปจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้กระทบกับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จึงเข้ามากอบกู้สถานการณ์ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะเลวร้ายมาก และสายเกินกว่าจะกอบกู้ได้ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 20% สวนทางกับการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

 

ผลกระทบของวิกฤตซับไพร์ม

อันดับต่อมา เราจะมาพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตซับไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์นี้กันบ้างครับว่ามันรุนแรงขนาดไหน

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก
GDP สหรัฐฯ ช่วงปี 2008-2016 อัตราการว่างงานช่วงปี 2007-2017

 

1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของวิกฤตดังกล่าว คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ เพราะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สูญเสียความมั่งคั่งไป 1 ใน 4 ส่วนของทั้งหมด หรือราว 25% ส่งผลให้อัตราว่างงานในขณะนั้นสูงถึง 10% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ หดตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2008 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2010 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น ซึ่งการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้เพียง 1 ใน 4 ส่วน ก็สามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้น ช่วงดังกล่าวจึงถือเป็นฝันร้ายของหลาย ๆ คน

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

ดัชนี S&P 500 ช่วงปี 2004-2011

 

2) ผลกระทบต่อตลาดหุ้น

อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี S&P 500 และ Dow Jones ที่มีการปรับตัวลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะ S&P 500 ที่ปรับตัวลงกว่า 45% จากจุดสูงสุดในปี 2007 แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งสวนทางกันก็ตาม นั่นทำให้ตลาดทุนโลกสูญเสียความมั่งคั่งไปกว่า 40% หรือราว 8 ล้านล้านดอลลาร์ และใช้เวลาเกือบ 5 ปี กว่าจะกลับมาเป็นปกติ

ดังนั้น เมื่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง มันจึงส่งผลเชื่อมโยงไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบและนักลงทุนด้วยเช่นกัน เศรษฐกิจหลายประเทศจึงเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าและส่งออกจากต่างชาติ

 

3) ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคาร

ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดก็คงเป็นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน เพราะไม่เพียงแต่สูญเสียความมั่งคั่งกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ยังเสียความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบการเงินและภาวะสินเชื่อตึงตัว จนกระทบต่อสถาบันการเงินและธนาคารยุโรป รวมถึงสถาบันการเงินอื่น ๆ ทั่วโลก

นอกจากผลกระทบที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว แน่นอนว่า มันยังมีผลกระทบในด้านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพราะวิกฤตการเงินครั้งนี้ส่งผลต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น นักลงทน และประชาชนทั่วไปทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก ดังนั้น ปัญหาที่ตามมาจึงหนักหนากว่าที่กล่าวไปอย่างแน่นอน

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

ตัวอย่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ล้มละลายจากวิกฤตซับไพร์ม 

แม้ว่าเฟดจะเข้ามากอบกู้สถานการณ์ได้อย่างฉิวเฉียดในวินาทีสุดท้าย แต่ก็ยังมีธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากวิกฤตครั้งนี้จนมีการยื่นฟ้องล้มละลาย และเป็นการเปิดฉากความโหดร้ายของวิกฤตซับไพร์ม ซึ่งนั่นก็คือ Lehman Brothers วาณิชธนกิจระดับโลกที่มีอายุกว่า 158 ปี หรือสถาบันการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ เสาหลักสำคัญของภาคการเงิน

การล้มลงของ Lehman Brothers Holding Inc. ครั้งนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เพราะเป็นบริษัทที่ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มได้ หรือที่เรียกว่า ‘Too Big to Fail’ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น หากล้มลงก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้

แต่ในท้ายที่สุด Lehman Brothers ก็ได้ล้มลง จากทั้งปัญหาการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ การกู้ยืมเงินมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประกอบกับผลประกอบการ การบริหารจัดการ และการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ด้วยปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ทำให้ Lehman Brothers ยื่นฟ้องล้มละลายในช่วงกลางเดือนกันยายน 2008 และเป็นการเปิดฉากวิกฤตทางการเงินครั้งสำคัญที่ทั่วโลกจำไม่ลืม

การล้มละลายในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจเดียวกัน รวมถึงดัชนี Dow Jones ที่ปรับตัวลงทันทีกว่า 4.4% ภายในวันเดียว หนักสุดในรอบ 7 ปี อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนการกู้ยืมขยับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนอกจาก Lehman Brothers แล้ว ก็ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งที่ล้มลงและประสบปัญหาจนเกือบจะล้มละลาย

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลกวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตซับไพร์ม

 

ผลกระทบของวิกฤตซับไพร์มต่อประเทศไทย

เมื่อกล่าวว่า วิกฤตซับไพร์มส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ดังนั้น ไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ผลกระทบที่ไทยได้รับนั้น อาจจะไม่เท่ากับประเทศอื่น ๆ ซึ่งสาเหตุมาจาก

1) เสถียรภาพทางการเงินของไทย

ในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพร์มเป็นช่วงหลังจาวิกฤตต้มยำกุ้งเพียง 11 ปี ดังนั้น การวางรากฐานเสถียรภาพทางการเงินของไทยจึงค่อนข้างแข็งแรง รับแรงกระแทกได้พอสมควร อีกทั้ง การกู้เงินที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศยังอยู่ในปริมาณต่ำ ส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศเองก็ค่อนข้างแน่นหนา ผลกระทบครั้งนี้จึงค่อนข้างห่างไกล

2) ตลาดทุนในไทย

ในภาคตลาดทุน ไทยถือว่าได้รับแรงกระแทกพอสมควร เนื่องจากการลงทุนส่วนมากมาจากนักลงทุนที่เป็นชาวต่างชาติ ทำให้ตลาดหุ้นไทยทรุดตัวลงกว่า 60% ในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก่อนจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยใช้เวลากว่า 3 ปี แต่หากมองในภาพรวม ไทยก็ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และหากจะพูดให้ถูกต้องก็อาจกล่าวได้ว่า การที่ไทยได้รับผลกระทบไม่หนักมากนักเป็นเพราะเพิ่งช้ำจากวิกฤตต้มยำกุ้งนั่นเอง

 

วิกฤตซับไพร์ม (แฮมเบอร์เกอร์) บทเรียนครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ – โลก

วิกฤตซับไพร์มความผิดใครกันแน่?

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตซับไพร์ม

แน่นอนว่า วิกฤตซับไพร์มไม่ใช่วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย แต่ก็ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญสำหรับภาคการเงินและธนาคารกลางทั่วโลก เพราะมันถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การกำหนดนโยบายการเงินและมาตรการควบคุมภาคสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งช่วยเสริมให้เศรษฐกิจโลกมีรากฐานมั่นคงขึ้น

อีกทั้ง เหตุการณ์นี้ยังเป็นบทเรียนสำคัญต่อภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะจากกรณีศึกษา Lehman Brothers ที่แม้จะเป็นธุรกิจที่ใหญ่เกินกว่าจะล้มได้ แต่ในวันนี้ก็ได้ล้มลงและปิดฉากตำนานธนาคารใหญ่ของสหรัฐฯ แล้ว ดังนั้น บทเรียนนี้จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่สอนว่าอย่าประมาท แม้จะมีประสบการณ์และการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน

ในแง่ของการลงทุน บทเรียนที่นักลงทุนควรศึกษา คือ การจัดอันดับสินทรัพย์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจไม่น่าเชื่อถือเสมอไป และการลงทุนตามหมู่คณะหรือเทรนด์ต่าง ๆ ที่กลัวตกขบวน ทำให้อาจสูญเงินจากความเสี่ยงในแง่ต่าง ๆ ทั้งจากสินทรัพย์ และความไม่รู้ของตัวเอง ดังนั้น หากไม่อยากตกเป็นผู้เสียหายหรือสูญเงิน ก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนนั้น ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

 

สรุปภาพรวม วิกฤตซับไพร์ม

โดยสรุปแล้ว วิกฤตซับไพร์ม หรือแฮมเบอร์เกอร์ ก็ถือเป็นวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าชั้นรอง หรือผู้ที่มีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์ ทำให้เกิดผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจและกระทบไปทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา อีกทั้ง ยังกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลก แม้ว่าเหตุการณ์นี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่มันก็เป็นบทเรียนครั้งสำคัญของนักลงทุนและกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนเลยก็คือ การศึกษาความเสี่ยงของการลงทุน สินทรัพย์ กลยุทธ์ ตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้คุณสูญเสียเงินไป และอย่าลืมใช้เงินเย็นในการลงทุนนะครับ ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงาน Fxtoday

 

อ้างอิงจาก: Finnomena 1, Finnomena 2, Finnomena 3, Finnomena 4, The Standard, Sukhothai Thammathirat, Thammasat University

____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: Forex News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: Technical Analysis
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS