ในปีที่ผานมา หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มลดลง หลายประเทศก็มีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง กระนั้น สิ่งที่ตามมากลับเป็นระดับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนธนาคารกลางต้องเข้ามาควบคุม และมีการคาดการณ์ว่า ระดับเงินเฟ้อมาถึงจุดสูงสุดแล้ว ในปีหน้า เศรษฐกิจน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง แต่มันจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?! เราจะพาทุกคนไปติดตามกันครับ
คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2023
สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2023 ทีมงานของเราได้ทำการรวบรวมข้อคิดเห็นมาจากหลากแหล่งข้อมูล แต่ในเบื้องต้น ต้องขอบอกว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าอาจจะไม่สวยนักในครึ่งปีแรก แต่ครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไปครับ
1. การคาดการณ์โดยอ้างอิงจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจด้านเศรษฐกิจโลก
สิ่งที่สะท้อนการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกปี 2023 อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจด้านเศรษฐกิจโลก (Global Leading Economic Index: Global LEI) ที่จัดทำโดย The US Conference Board ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกมีปัจจัยรุมเร้าหลายด้าน ทั้งวิกฤตเงินเฟ้อที่พุ่งสูงต่อเนื่อง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่สูงสุดในรอบหลายปี สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ตลอดจนตลาดแรงงานที่ชะลอตัว
ทั้งหมดนี้ทำให้ The US Conference Board ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นในปี 2023
2. การคาดการณ์โดยอ้างอิงจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกปี 2023 ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยง ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ วิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศอื่น ๆ
โดย IMF ได้ประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2023 ว่า จะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจหลักที่มีสัดส่วน 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะชะงักหรือแทบไม่โตจากปี 2022 กล่าวคือ สหรัฐฯ 1.0% สหภาพยุโรป 0.5% ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2023
ทั้งนี้ ด้วยความไม่แน่นอนทั้งหลาย ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ความหวังที่เศรษฐกิจเอเชียจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในยามที่ตลาดสำคัญขนาดใหญ่ของโลกกำลังซบเซา อาจไม่เป็นไปตามคาด
สรุปได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดพัฒนาแล้ว (DM) จะเติบโตต่ำ สวนทางกับเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (EM) อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากประเทศที่เป็นตลาดพัฒนาแล้วมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย ขณะที่การเติบโตของประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่จะชะลอตัวลง แต่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยน้อยกว่า
3. การคาดการณ์โดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของธนาคารโลก
จากข้อมูลการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 1970 ซึ่งเป็นการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ชี้ให้เห็นว่า ก่อนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มักจะเกิดภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญในปีก่อนหน้า
หากเทียบจากข้อมูลข้างต้น เราจะเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ก็เริ่มแสดงเค้าลางที่คล้ายคลึงกัน คือ ดัชนีแสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021 ประกอบกับสินทรัพย์ต่างประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงตั้งแต่ต้นปี 2022 อีกทั้ง การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน
4. การคาดการณ์โดยอ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ
อีกสัญญาณหนึ่งที่ช่วยย้ำความเชื่อดังกล่าว คือ ปรากฏการณ์การผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Inverted Yield Curve) ในอดีต ที่สามารถทำนายการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ถูกต้องเกือบทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 1955 โดยกรอบเวลาเฉลี่ยที่จะเกิดภาวะถดถอยหลังจากเส้นอัตราผลตอบแทนผกผันอยู่ระหว่าง 6 – 24 เดือน
โดยการผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เริ่มเห็นได้ชัดในเดือนกรกฎาคม 2022 ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุ 2 ปี เริ่มแซงหน้าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปี ก่อนที่ในตอนหลังจะแซงหน้าขาดลอยไปในที่สุด
5. การคาดการณ์โดยอ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย้อนหลัง
สำหรับเศรษฐกิจโลกในปีหน้า มีการคาดการณ์ว่า จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ย้อนหลัง 75 ปี จะพบว่า หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 4% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 2 ปีข้างหน้า
ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 7.1% ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน ลดลงมาอยู่ที่ 3.7% ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
จากคาดการณ์ทั้งหมดที่เราได้นำเสนอนี้ จะเห็นได้ว่า หลายแหล่งต่างให้ความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกปี 2023 โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ส่อแววเศรษฐกิจถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ตรงข้ามกับประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ มันก็ไม่แน่ว่า ตลาดเกิดใหม่จะสามารถแบกรับการถดถอยได้
นอกจากนี้ ยังไม่มีการคาดการณ์ที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของ 2023 จะดำเนินไปในทิศทางใด เพราะปัจจัยรายล้อมที่ไม่แน่นอนรอบด้าน ทำให้หลายฝ่ายไม่สามารถประเมินความเป็นไปได้มากนัก
คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เสี่ยงต่อการถดถอย แต่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงครึ่งปีหลังของ 2022 เศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ
ส่วนปี 2023 EIC มองว่า ไทยอาจได้รับแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากความไม่แน่นอนทั้งหลายที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญ ทำให้ภาคการส่งออกอาจจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาหลายมิติ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปี 2023 จะมีการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
จากการคาดการณ์ของ EIC เราจะเห็นได้ว่า ตรงกับข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่จะมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยน้อยกว่าประเทศในตลาดพัฒนาแล้ว
โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ไทย ซึ่งเป็นประเทศค่อนข้างห่างไกล กลับได้รับผลกระทบไม่มากนัก อีกทั้ง ไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงยิ่งทำให้ผลกระทบห่างไกลพอสมควร
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์นี้อาจมีความคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภาวะถดถอยนั้นสั้นหรือยาวกว่ากำหนด เราจึงต้องมาติดตามและอัปเดตปัจจัยต่าง ๆ ในปีหน้ากันอีกครั้ง ทั้งนี้ เราขอให้ทุกท่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ รวมถึงวางแผนการลงทุนให้รัดกุม เพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยงต่าง ๆ ครับ
Source: The US Conference Board, IMF, CNBC, Reuters, World Economic Forum, JP Morgan, Investing 1, Investing 2, Bangkokbiznews, BOT, Thairath