Stagflation คืออะไร ? วิกฤตซัดหรือมนุษย์สร้าง ?

Stagflation คืออะไร ? วิกฤตซัดหรือมนุษย์สร้าง ?
Create at 2 years ago (Jan 05, 2023 16:28)

เมื่อปีที่ผ่านมา หลาย ๆ ประเทศต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง นโยบายการเงินที่เข้มงวด อีกทั้ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบางประเทศก็ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังมากนัก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่การชะลอตัวและตกต่ำตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจแต่ละแบบก็มีความแตกต่างกัน รวมถึง Stagflation เช่นกัน ดังนั้น ทีมงานของเราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวิกฤตดังกล่าวว่า มีความเป็นมาอย่างไร แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดวิกฤตนี้

 

ทำความรู้จัก Stagflation วิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกหวาดกลัว

Stagflation คือ ภาวะที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของสภาวะเศรษฐกิจที่ผิดปกติ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง นับเป็นสถานการณ์ที่ผิดธรรมชาติ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อไม่ควรเกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

โดยในทางเศรษฐศาสตร์ จะเรียกภาวะดังกล่าวว่า Stagflation ซึ่งเป็นการนำคำ 2 คำมาผสมรวมกัน คือ Stagnation ที่แปลว่า ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ กับคำว่า Inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ เมื่อรวมกันจึงหมายถึง “สถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ”

 

Stagflation คืออะไร ? วิกฤตซัดหรือมนุษย์สร้าง ?

สาเหตุที่ทำให้เกิด Stagflation

การที่จะเกิด Stagflation ได้นั้น ถือเป็นการฝืนกลไกธรรมชาติอย่างหนึ่ง กล่าวคือ มันต้องประกอบด้วยเหตุการณ์ต่อไปนี้

1) อัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

2) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง

3) อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น

เหตุการณ์ทั้ง 3 นี้ โดยปกติแล้วไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ เพราะมันมักจะเป็นตัวเลขที่สวนทางกันเสมอ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า มันมาจากฝีมือของมนุษย์ ทั้งความผิดพลาดจากนโยบายการเงินของธนาคารกลาง นโยบายการคลังของรัฐบาล หรือแม้แต่ปัญหาอุปทานช็อก อย่างการขาดแคลนแรงงาน สินค้า หรือปัจจัยการผลิต ดังนั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้ต่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เข้าสู่ภาวะ Stagflation

 

Stagflation คืออะไร ? วิกฤตซัดหรือมนุษย์สร้าง ?

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ Stagflation ในอดีต 

ในอดีต ภาวะ Stagflation ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด คือ เมื่อปี 1970's ที่สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานสูงถึง 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งแตะ 12% โดยมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว สวนทางกับราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น

เมื่อเกิด Stagflation ขึ้นแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ปัญหา เพราะมันต้องใช้ระยะเวลาและมันสมองเป็นอย่างมากในการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ เหตุการณ์ Stagflation ยังไม่ได้กระทบเพียงภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะสหรัฐฯ มีการค้าขายและลงทุนกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ไทยเคยอยู่ในภาวะ Stagflation ในปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำติดต่อกันหลายปี ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกิน 10% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่ง​เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยอีกด้วย

 

ผลกระทบของ Stagflation

หากเกิด Stagflation จะมีผลกระทบที่ตามมา คือ ระบบเศรษฐกิจจะได้รับแรงกดดันจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และระดับราคาสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนและภาคเอกชนจะขาดความเชื่อถือต่อระบบเศรษฐกิจ

ด้านเอกชน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น คือ รายได้ของบริษัทลดลง ขณะที่ต้นทุนของวัตถุดิบในการผลิตกลับสูงขึ้น ทำให้ภาคเอกชนเลือกที่จะปลดพนักงาน เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

ส่วนผลกระทบสำหรับประชาชนทั่วไป คือ ผู้คนมีโอกาสในการตกงานมากขึ้น รายได้น้อยลง ทำให้กำลังในการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามระดับเงินเฟ้อ

 

Stagflation คืออะไร ? วิกฤตซัดหรือมนุษย์สร้าง ?

 

กลยุทธ์การลงทุนในช่วง Stagflation 

ในช่วงที่เกิด Stagflation นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนอย่างไร? จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ทำให้สังเกตได้ว่า สินทรัพย์ส่วนมากที่ได้รับประโยชน์ จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจที่ค่อนข้างเฉพาะทาง และต้องติดตามข่าวสารจากตลาดการลงทุนอย่างใกล้ชิดควบคู่กัน เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้อยู่รอดในสถานการณ์ดังกล่าว โดยสินทรัพย์ที่นิยมลงทุนในช่วงดังกล่าว คือ

1. ลงทุนสินทรัพย์จริง

จากข้อมูลในอดีต สินทรัพย์ทางการเงินอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับช่วง Stagflation เนื่องจากสินทรัพย์จริง หรือสินทรัพย์ที่เราสามารถจับต้องได้ สามารถตอบโจทย์ได้มากกว่า โดยสัดส่วนการลงทุนในภาวะ Stagflation ที่แนะนำในอดีต คือ สินค้าโภคภัณฑ์ 30% ทองคำ 30% และอสังหาริมทรัพย์ 40%

2. ลงทุนหุ้นคุณค่า – หุ้นวัฏจักร

แม้ว่าการลงทุนในหุ้น อาจจะได้รับผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงดังกล่าว แต่ข้อมูลในอดีตก็ชี้ว่า หุ้นคุณค่ามีความเป็นไปได้ที่จะอยู่รอด รวมถึงหุ้นวัฏจักรอย่างธุรกิจพลังงานและธนาคารเช่นกัน เพราะการลงทุนกลุ่มนี้ประกอบด้วยสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แลกกับโอกาสในการทำกำไรจากราคาที่ลดลง ไปจนถึงหุ้นที่ไม่เติบโตแต่ให้ปันผลสูง ขณะที่หุ้นเติบโตนั้นควรหลีกเลี่ยง เพราะทำผลตอบแทนได้ไม่คุ้มกับความเสี่ยง

3. กระจายการลงทุนในหลาย ๆ ประเทศ

ภาวะดังกล่าวไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้พร้อมกันกับทุกประเทศ ดังนั้น หากอยู่รอดในช่วงนี้ นักลงทุนอาจพิจารณาลดสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ประสบกับ Stagflation ลง และไปกระจายลงทุนในประเทศอื่น ๆ หลาย ๆ ภูมิภาค

4. ผลตอบแทนนอกตลาด

นอกจากสินทรัพย์ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การลงทุนอีกแบบที่นิยมในอดีต คือ การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด หรือการยอมเสียสละสภาพคล่องและความโปร่งใสของการประเมินมูลค่า แลกกับผลตอบแทนที่สูงและราคาที่ไม่เป็นไปตามตลาด อย่างไรก็ดี สินทรัพย์นี้มีความเฉพาะตัวสูง ไม่มี Benchmark ผลตอบแทนกว้างตั้งแต่ 5% – 20% ต่อปี สัดส่วนที่เหมาะสมจึงอาจแตกต่างกันไปตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและระดับความเสี่ยงเป้าหมาย

 

โดยสรุปแล้ว ภาวะ Stagflation ก็คือ สถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ ซึ่งประกอบด้วยการชะงักงันทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ อันเป็นการฝืนกลไกตลาดอย่างหนึ่ง ดังนั้น มันจึงเป็นวิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ หรือเหล่าผู้บริหารเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี อุปทานช็อคก็มีผลเช่นกัน และหากเกิดวิกฤตดังกล่าวแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอ

 

Source : The Balance Money, World Economic Forum, Trade With Auntie, Thairath, Finnomena

____________________________________________

อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก:News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง:Analysis
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS