ไบเดนเตรียมออกกฎหมายชิพ แก้ปัญหาอุตฯยานยนต์ขาดแคลนชิพ

ไบเดนเตรียมออกกฎหมายชิพ แก้ปัญหาอุตฯยานยนต์ขาดแคลนชิพ
Create at 3 years ago (Apr 09, 2021 12:17)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเปิดเผยว่า วุฒิสภาสหรัฐเตรียมออกกฎหมายเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิพสำคัญซึ่งใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ “เรากำลังดำเนินการในเรื่องนี้ ผมคิดว่าชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ และมิทช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา กำลังจะเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้” ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าว

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ทำเนียบขาวมีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดทางออนไลน์เกี่ยวประเด็นนี้ในวันจันทร์(12เม.ย.) ซึ่งคาดว่าผู้บริหารระดับสูงของค่ายรถยนต์สหรัฐจะเข้าร่วมประชุมด้วยได้แก่ นายจิม ฟาร์ลีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด มอเตอร์ และนางแมรี่ บาร์รา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม)รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว อาทิ นายไบรอัน ดีส และนายเจค ซัลลิแวน

เมื่อวันจันทร์(5 เม.ย.)ที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ และกล่าวเตือนว่าการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอาจส่งผลให้การผลิตยานยนต์ลดลง 1.28 ล้านคันในปีนี้ และต้องระงับการผลิตไปอีก 6 เดือน ตลอดจนเรียกร้องให้มีการกันเงินบางส่วนสำหรับการผลิตชิพสำหรับรถยนต์

ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ปธน.ไบเดนได้สั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางหลายแห่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนชิพ และออกกฎหมายระดมทุน 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์เอเพิ่มการผลิตชิพในสหรัฐ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้โรงงานผลิตชิพทั่วโลกต้องยุติการผลิตชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณชิพลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการชิพที่เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในช่วงที่โควิด-19 ระบาด การที่ต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น การทำงาน และการเรียนออนไลน์ ทำให้ความต้องการอุปกรณ์คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งการผลิตสินค้าเหล่านี้ล้วนมีชิพเป็นส่วนประกอบ

แต่ดูเหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ตัดสินใจที่จะจัดส่งชิพให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีมีการสั่งชิพจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และให้ผลกำไรมากกว่า นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังมีแนวโน้มที่จะต้องการชิพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ยังได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตชิพ ทำให้บริษัทรถยนต์จำต้องเข้าคิวรอสินค้าจากผู้ผลิตชิพ

ปัญหาขาดแคลนชิพที่เกิดขึ้นทำให้จีเอ็มของสหรัฐสั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชั่วคราว 3 แห่ง พร้อมระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจทำให้ปีนี้บริษัทต้องสูญเสียรายได้มากถึง 2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ฟอร์ด มอเตอร์, โฟล์คสวาเกน และนิสสัน มอเตอร์ ต่างก็ต้องชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิพเช่นกัน

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ในการแก้ไขปัญหาชิพขาดตลาดที่เข้าขั้นวิกฤตนี้ อาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าที่โรงงานผู้ผลิตชิพจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการได้จนทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และในขณะนี้ผู้ผลิตชิพได้มีการปรับขึ้นราคาชิพไปแล้ว 2 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี

“หวัง เซียง” ประธานบริษัทเสี่ยวหมี่ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของจีน บอกว่า สถานการณ์ชิพขาดตลาด อาจทำให้บริษัทต้องขึ้นราคาสินค้าในอนาคต และผลกระทบอาจจะตกไปถึงผู้บริโภคได้ในบางกรณี แต่บริษัทจะพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้ดีที่สุด

"จอร์แดน วู"ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไฮแมกซ์ เทคโนโลยีส์ โค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิพของไต้หวัน บอกว่า "ไม่เคยเจอวิกฤตแบบนี้ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ทุกแอพพลิเคชันขาดแคลนชิพและไม่คาดว่าวิกฤตขาดแคลนชิพ โดยเฉพาะในวงการรถยนต์จะสิ้นสุดลงในเร็วๆนี้ เรายังไปไม่ถึงจุดที่จะสามารถมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ไปในทำนองเดียวกันว่า “การขึ้นราคาชิพอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม เนื่องจากราคาโทรศัพท์มือถือ, ทีวี, เครื่องเล่นเกมคอนโซลไปจนถึงรถยนต์ จะแพงขึ้นตามราคาชิพ หากว่าผู้ผลิตทั่วโลกยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้”

 

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES