ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวน-วิตกเงินเฟ้อกดดันตลาด ขณะนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้าง ตั้งแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไปจนถึงกลุ่มพลังงาน ตลาดหุ้นเอเชียเปิดผันผวนในเช้าวันนี้ หลังได้รับแรงกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐได้กดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มต่างๆ เป็นวงกว้าง ตั้งแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีไปจนถึงกลุ่มพลังงาน โดยความตื่นตระหนกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อได้ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงานในสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้
ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,429.75 จุด ลดลง 12.10 จุด หรือ -0.35%, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,712.10 จุด เพิ่มขึ้น 103.51 จุด หรือ +0.36% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 28,073.92 จุด เพิ่มขึ้น 60.11 จุด หรือ +0.21%
นักวิเคราะห์จากบริษัทแอลพีแอล ไฟแนนเชียลกล่าวว่า ขณะนี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อไม่เพียงแต่ฉุดหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังกดดันให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มอื่นๆ เป็นวงกว้าง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความกังวลดังกล่าวมาจากการที่สหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และล่าสุดทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (เจโอแอลทีเอส) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 8.12 ล้านตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค. 2543
ทั้งนี้ ตัวเลขเจโอแอลทีเอส นับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งหากตัวเลขซีพีไอพุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำคิวอีอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน