สัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้น แต่ตลาดกังวลปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐฯเร่งตัวขึ้น กดดันให้ตลาดเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี
จับตา แนวโน้มความรุนแรงของการระบาด COVID-19 ในเอเชีย และ การฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะ ยุโรป เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง ถ้าตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงและเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีกว่าคาด ทั้งนี้ สกุลเงินเอเชียอาจผันผวนและไม่ได้แข็งค่าขึ้นมาก เพราะปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจกดดันให้นักลงทุนต่างชาติเทขายสินทรัพย์ในเอเชียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ต้องจับตาแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้
มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.20-31.50 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
ฝั่งสหรัฐฯ – เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนตลาดแรงงาน ซึ่งตลาดคาดว่ายอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.6 แสนราย นอกจากนี้ภาคการผลิตและการบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ระดับ 60.2จุด และ 64.5 จุด (เกิน 50 จุด หมายถึง การขยายตัว)
ฝั่งยุโรป – การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีนเริ่มดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -6.7 จุด จาก -8.1 จุดในเดือนก่อน นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Markit Mfg. & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.6 จุด และ 52.4 จุด ส่วนในฝั่งอังกฤษ การบริโภคฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังการเร่งแจกจ่ายวัคซีน โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายนจะขยายตัวกว่า 4.5% จากเดือนก่อนหน้า
ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) นับตั้งแต่ต้นปีที่จะโตกว่า 20%y/y หนุนโดยการลงทุนในภาคอสังหาฯ ขณะเดียวกันยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) นับตั้งแต่ต้นปีก็จะเพิ่มขึ้นกว่า 21%y/y ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) ก็ยังคงโตขึ้นกว่า 32%y/y นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นปีจะกดดันให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า อนึ่ง เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่สดใส โดยยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 31%y/y
ฝั่งไทย – เศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะหดตัวกว่า 3.3%y/y จากปัญหาการระบาดระลอกใหม่นับตั้งแต่ต้นปีที่กดดันทั้งการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังมีภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหนุนไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวหนัก ซึ่งยอดการส่งออกเดือนเมษายนจะโตถึง 9.4%y/y ขณะที่ยอดนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งออกจะโตกว่า 23% ทั้งนี้ ดุลการค้าจะเกินดุลกว่า 600 ล้านดอลลาร์