นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 31.27 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจาก เย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 31.26 บาท/ดอลลาร์
วันนี้คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ เนื่องจากคาดว่า flow สิ้นเดือนน่าจะหมดแล้ว ช่วงนี้ต้องติดตามทิศทางค่าเงิน หยวน เนื่องจากระยะนี้จีนทำนโยบายให้เงินหยวนแข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ปรับตัวไปในทิศทาง เดียวกัน
"flow สิ้นเดือนน่าจะหมดแล้ว ตลาดคงซึมๆ ลง แต่ต้องจับตาทิศทางเงินหยวน ที่ระยะหลังนี้ จีนทำให้เงินหยวนแข็งค่า ทำ ให้ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่แข็งค่าตาม" นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20 - 31.35 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทไทยตลอด 3 เดือน (28 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.25377% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.29965%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.70 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 109.86 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2195 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2184 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.292 บาท/ดอลลาร์
- วันนี้ติดตามตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย. ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รวม
ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ
- "สรรพากร" ขยายเวลามาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และมาตรการภาษีเพื่อรองรับ การย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ ยาวถึงวันที่ 31 ธ.ค.2565 หวังช่วยหนุนลงทุน กระตุ้นการจ้างงาน และช่วยขับเคลื่อน เศรษฐกิจประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย
- คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐ เปิดเผยแผนงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนต.ค.ปีนี้ที่ระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์ โดยนับเป็นระดับงบประมาณรายจ่ายสูงที่สุดของสหรัฐ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
- กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือ เอเปก (APEC) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมของประเทศสมาชิก 21 ชาติ จะขยายตัว 6.3% ในปี 2564 โดยได้แรงหนุนจากการทยอยเปิดเศรษฐกิจและการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศต่างๆ โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หดตัวลง 1.9% ในปี 2563
- สัปดาห์นี้สหรัฐฯ จะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นสุดท้าย, ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. เป็นต้น