ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพุธที่ 9มิ.ย. ปรับตัวร่วงลง 152 จุด ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อซึ่งอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในการประชุมกลางเดือนนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ร่วงลง 152.68 จุด หรือ 0.44% ปิดที่ 34,447.14 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 7.71 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 4,219.55 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 13.16 จุด หรือ 0.09% ปิดที่ 13,911.75 จุด
การซื้อขายเป็นไปอย่างซบเซาในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนรออยู่นอกตลาด ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังจากพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนีซีพีไอจะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ คาดว่าดัชนีซีพีไอพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะพุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย.
ก่อนหน้านี้ ดัชนีซีพีไอของสหรัฐดีดตัวขึ้นสูงเกินคาดในเดือนเม.ย. และหากดัชนียังคงปรับตัวอย่างร้อนแรงในเดือนพ.ค. ก็อาจทำให้เฟดส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มิ.ย.
นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของดัชนีซีพีไอประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการพุ่งขึ้นของดัชนีซีพีไอเมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้ตัวเลขดัชนีซีพีไอเมื่อเทียบรายปี ถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน