ถึงแม้ยังไม่มีการแพล็มอะไรออกมามากเกี่ยวกับแผนระยะ 5 ปีฉบับล่าสุด ซึ่งมีการพิจารณากันในการประชุมครั้งสำคัญเป็นเวลา 4 วันของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่ที่ปรึกษาระดับท็อปของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังออกมาบอกว่า จีนได้ก้าวผ่านพ้นช่วงยากลำบากที่สุดในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้แล้ว และจีนอาจจะสามารถยึดตำแหน่งผู้นำเหนือชาติตะวันตกทั้งหลายในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาด ตลอดจนในการบ่มเพาะอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ ที่กำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทุกที
สิ่งที่จะได้เสียกันนั้นสูงลิบลิ่ว ณ การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งพวกผู้ปฏิบัติงานระดับอาวุโสของพรรคได้พิจารณาไตร่ตรอง และตามรายงานระบุว่าได้ลงมติอนุมัติรับรองร่างนโยบายต่างๆ ซึ่งจะนำมาใช้ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า การประชุมเป็นเวลา 4 วันคราวนี้สิ้นสุดลงแล้วในวันพฤหัสบดีที่29 ต.ค. ทว่าสาธารณชนชาวจีนจะยังไม่สามารถเปิดดูเนื้อหาฉบับเต็มของโรดแมปที่ครอบคลุมสิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำหรับปี 2025 นี้ได้ในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในหมู่ที่ปรึกษาระดับท็อปของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังเปิดเผยให้ทราบอย่างอ้อมๆ เกี่ยวกับทัศนะของปักกิ่งในเรื่องทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศชาติตลอดระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ไป
จัสติน หลิน (Justin Lin) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า หลิน อี้ฟู (Lin Yifu) คณบดีของวิทยาลัยการพัฒนาแห่งชาติ (National School of Development) แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University หรือ PKU) กล่าวในเวทีประชุมแห่งหนึ่ง ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (28 ต.ค.) ว่า เศรษฐกิจจีนสามารถที่จะฟันฝ่าลมปะทะทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ และรักษาอัตราการเติบโตขยายตัวระดับปีละ 6-8% เอาไว้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว หลิน ซึ่งเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก กล่าวต่อที่ประชุมว่า จีนได้ผ่านพ้นช่วงยากลำบากที่สุดในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ไปแล้ว และท่ามกลางระยะเวลาแห่งการทดสอบในปัจจุบัน จีนอาจจะสามารถเข้ายึดตำแหน่งผู้นำอย่างชนิดไร้ช่องโหว่ เหนือบรรดาชาติตะวันตกสำคัญทั้งหลาย ในแง่มุมของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และในการบ่มเพาะฟูมฟักพวกอุตสาหกรรมไฮเทคใหม่ๆ ที่กำลังก้าวผงาดกันขึ้นมา
เขาบอกว่า จีนอยู่ในฐานะอันดีที่สามารถจะผลักดันความได้เปรียบของตน จากการเป็นหนึ่งในตลาดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก แถมมีสายโซ่อุปทานต่างๆ (supply chains) อย่างครบครันรอบด้าน
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หลินได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาซึ่งมี สี จิ้นผิง เป็นประธาน ที่ทำเนียบจงหนานไห่ ซึ่งผู้นำสูงสุดผู้นี้มองหาข้อเสนอแนะต่างๆ ในทางนโยบายจากพวกนักวิชาการที่ได้รับความยกย่องนับถือ เพื่อใช้ในการร่างแผนระยะ 5 ปีฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 ของจีน
“ข้อเสนอต่างๆ ในทางนโยบายของ หลิน ได้เคยปรากฏเป็นส่วนสำคัญอยู่ในแผนระยะ 5 ปีฉบับก่อนๆ ตลอดจนในรายงานกิจการรัฐบาลส่วนกลางประจำปี จริงๆ แล้วเขาเป็นนักวิชาการคนแรกที่ได้พูดแสดงความเห็นระหว่างการประชุมสัมมนาเมื่อเดือนสิงหาคมที่จัดขึ้นโดย สี” อาจารย์ผู้หนึ่งที่วิทยาลัยการปกครอง (School of Governance) ของมหาวิทยาลัย PKU บอกกับเอเชียไทมส์โดยขอให้สงวนนาม
“การที่ หลิน พูดถึงสุขภาพของเศรษฐกิจกิจและทิศทางโอกาสของเศรษฐกิจจีนในทางสดใสเช่นนี้ อาจจะหมายความว่าแผนฉบับที่กำลังจะออกมาใช้กันจนถึงปี 2025 นี้จะมีแนวโน้มไปในทางบวก โดยที่อาจจะกำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตของจีดีพีประจำปีเอาไว้ที่ราวๆ 6% ในระหว่างปี 2021 ถึง 2025 ก็ได้” อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งผู้นี้บอก
หลี่ จิว์นหรู (Li Junru) รองผู้อำนวยการของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง (Central Party School) ซึ่งมีหน้าที่อบรมบ่มเพาะพวกผู้ปฏิบัติงานพรรคระดับอาวุโส บอกว่า เป้าหมายต่างๆ ซึ่งบรรจุอยู่ในแผน 5 ปีฉบับใหม่ ตลอดจนคำชี้แนะต่างๆ สำหรับการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ อาจเป็นตัวตัดสินว่า จีนมีความสามารถหรือไม่ที่จะเริ่มต้นก่อนคนอื่นๆ ใน “การเดินทัพทางไกล” (Long March) ครั้งใหม่ของตน เพื่อมุ่งทำให้วิสัยทัศน์ต่างๆ และอุดมคติต่างๆ ของ สี กลายเป็นความจริงขึ้นมาภายในปี 2035
ขณะที่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการของการประชุมเต็มคณะคณะกรรมการกลางพรรคที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง เปิดเผยว่า สียังได้ปล่อยมุกกระเซ้าผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 400 คน ด้วยการพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาคาดหมายเอาไว้สำหรับระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า ถึงแม้ในเอกสารนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าความมุ่งมาดปรารถนาของผู้นำผู้นี้คืออะไร อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือสะพัดหนาหูว่า ปักกิ่งมุ่งหมายที่จะกระโจนพรวดแซงหน้าสหรัฐฯในเรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจให้สำเร็จภายในปี 2035