ราคาสินค้าเกษตรพุ่งกระทบ'ผู้บริโภค-ธุรกิจ'เอเชีย โดยดัชนีราคาอาหารโลกของเอฟเอโอเพิ่มขึ้น12เดือนติดต่อกันและเดือนพ.ค.ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี
ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไล่ตั้งแต่ข้าวสาลี น้ำมันพืช ไปจนถึงน้ำตาลช่วงไม่กี่เดือนมานี้กำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย
บรรดาผู้ประกอบการด้านอาหารกำลังผลักภาระราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นไปยังครัวเรือนต่างๆซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบางประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้จะมีผู้ส่งออกและเกษตรกรบางกลุ่มได้ประโยชน์ก็ตาม
ดัชนีราคาอาหารมาตรฐานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ)ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของราคาเนื้อวัว ผลิตภัณฑ์จากนม ซีเรียล น้ำมันพืชและน้ำตาลปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ในเดือนพ.ค.เป็น 127.1 ถือเป็นการปรับตัวสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี และตัวเลขของเดือนพ.ค.สูงกว่าปีก่อนหน้านี้ 40%
ราคาอาหารโลกปรับตัวขึ้นจากปัจจัยหลายด้านทั้งความต้องการจากจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่สุดของโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวหลังจากซบเซาเพราะผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด-19 เร็วกว่าทุกประเทศในโลก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องต้นทุนการขนส่งทางเรือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสาเหตุขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และระบบห่วงโซ่อุปทานได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งประเด็นปัญหาอื่นๆเช่น ความล่าช้าในการเก็บเกี่ยวพืชเกษตรและผลผลิตอ้อยที่ลดลงในบราซิล
ยิ่งกว่านั้น ราคาโภคภัณฑ์ยังปรับตัวขึ้นเพราะเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ เนื่องจากบรรดานักลงทุนพยายามสร้างความหลากในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดเงินโลกมีความผันผวนสูง