เจฟฟ์ เบซอสมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก กำลังจะขึ้นไปกับจรวด "นิวเชพเพิร์ด" ของบลู ออริจิน ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง พร้อมกับน้องชาย มาร์ก เบซอส รวมทั้ง นางวอลลีย์ ฟังก์ อดีตนักบินอวกาศหญิงรุ่นบุกเบิก วัย 82 ปี ซึ่งได้รับเชิญจากเบซอสให้มาร่วมทริปท่องอวกาศครั้งนี้ในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ และโอลิเวอร์ แดเมน หนุ่มวัย 18 ปี บุตรชายของโจส์ แดเมน ซีอีโอของบริษัทซัมเมอร์เซ็ต แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุน ขึ้นไปท่องอวกาศพร้อมกับเขา จนทำให้โอลิเวอร์ แดเมนเป็นผู้อายุน้อยที่สุดในทริปนี้
.
หลังจากที่จากเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน นักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และผู้ก่อตั้งบริษัทเวอร์จิน กาแลกติก (Virgin Galactic) ได้ประเดิมเดินทางโดยเครื่องบินจรวด VSS Unity ของเอกชนขึ้นไปท่องอวกาศ แตะขอบอวกาศที่ระดับความสูง 85 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และถือเป็นเที่ยวบินแรกในประวัติศาสตร์ และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยเมื่อ 11 ก.ค.ตามเวลาท้องถิ่น
.
จรวดนิว เชพเพิร์ด ประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือ จรวด และแคปซูล ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทบลู ออริจิน โดยจรวดจะทะยานขึ้นในลักษณะ Suborbital flight คือบินขึ้นไปในทางตรง ไม่มีการโคจรรอบโลก และไม่มีนักบินอวกาศ จากนั้นแคปซูลจะดีดตัวออกจากจรวด เมื่อขึ้นไปถึงระดับความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมากกว่าที่เวอร์จิน กาแลกติกทำไว้ ส่วนจรวดจะกลับมาลงจอดยังฐานปล่อยที่เทกซัสอีกครั้งเพื่อสามารถกลับมาใช้งานได้อีก
.
ผู้โดยสาร 4 คนในแคปซูลจะได้เห็นวิวนอกโลกผ่านหน้าต่างบานใหญ่ของแคปซูลเป็นเวลา 3 นาที ก่อนที่แคปซูลจะลดระดับและลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ ที่บริเวณกลางทะเลทรายในรัฐเทกซัสตามเดิม โดยการเดินทางท่องอวกาศครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
.
ก่อนหน้านี้ จรวดนิว เชพเพิร์ด ซึ่งถูกพัฒนาโดยบริษัทบลู ออริจิน ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของเบซอส ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบจรวด นิว เชพเพิร์ด จำนวน 15 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2555
Updated
3 years ago
(Jul 20, 2021 18:26)