ยูโร Vs ดอลลาร์? ใครคือปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดฟอเร็กซ์ขันเคลื่อนในสัปดาห์นี้

ยูโร Vs ดอลลาร์? ใครคือปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดฟอเร็กซ์ขันเคลื่อนในสัปดาห์นี้
Create at 4 years ago (Dec 08, 2020 12:44)

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สกุลเงินหลักไม่ว่าจะเป็นยูโร ปอนด์ สวิตฟรังก์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์และดอลลาร์แคนาดาล้วนปรับตัวขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีได้เพราะการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐทั้งสิ้น แม้แต่เมื่อคืนที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐก็ยังอ่อนค่าไม่หยุดทั้งๆ ที่ก็ใกล้ถึงช่วงเวลาสิ้นปีที่จะเกิดการออกจากตลาดเพื่อทำกำไรและใช้เงินดอลลาร์เพื่อจับจ่ายใช้สอยกันแล้ว

 สัปดาห์นี้เรายังคงประเมินว่าการอ่อนค่าของดอลลาร์จะเกิดขึ้นต่อไปซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินหลักที่มาจับคู่ด้วยยังอยู่ในขาขึ้นต่อ นอกจากนี้ตลอดทั้งสัปดาห์มีข่าวจากฝั่งสหรัฐฯ น้อยมาก ความสนใจของนักลงทุนจะไปอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าซึ่งต้องมาดูว่าเฟดจะจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำแต่ต้นทุนทางด้านพลังงานอย่างเช่นเชื้อเพลิงกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไร ด้วยเหตุผลนี้หากมีตัวเลขทางเศรษฐกิจสักตัวของสหรัฐฯ ออกมาดี นักลงทุนอาจใช้ตัวเลขนั้นเป็นข้ออ้างในการซื้อดอลลาร์กลับมา ที่น่าสนใจและจะมีความเกี่ยวข้องกับดอลลาร์สหรัฐฯ คือสถานการณ์ในตลาดหุ้น เมื่อคืนนี้ดัชนีดาวโจนส์ย่อตัวกลับลงมาหลังจากขึ้นไปสร้างจุดสูงใหม่ในขณะที่แนสแด็กยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับเข้าสู่การปรับฐานในระยะสั้น ดอลลาร์อาจได้รับความน่าสนใจและมีนักลงทุนกลับมาถือในฐานะสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์สำรอง

เมื่อฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญนัก ตลาดจึงโฟกัสไปที่สถานการณ์ในยุโรปมากกว่า ยิ่งใกล้สิ้นปีมากเท่าไหร่ การเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันของ Brexit ก็ยิ่งเข้มข้นและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของสหราชอาณาจักรและนางอัวร์ซูลา แกร์ทรูท ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประชุมหารือกันอย่างจริงจังเมื่อคืนนี้แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้อีกเช่นเคย อ้างอิงข้อมูลจากนายไซมอน คอนเวย์นีย์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไอร์แลนด์บอกว่าที่จริงแล้วการเจรจาไม่มีความคืบหน้ามาตั้งแต่สองวันก่อนหน้านี้แล้ว ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลให้ปอนด์ถูกกดดันแต่ก็ยังดีดตัวกลับขึ้นมาได้จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและความหวังว่าการประชุมของทั้งสองคนในสัปดาห์นี้จะมีความคืบหน้าเชิงบวกออกมาบ้าง

 สหราชอาณาจักรวางเงื่อนไขว่าจะไม่บังคับใช้เงื่อนไขในบางส่วนของกฏหมายการค้าภายใน (Internal Market Bill) แต่ต้องแลกมาด้วยการบรรลุข้อตกลงให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ อันที่จริงแล้วในการประชุมที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมีข้อถกเถียงกันอยู่สามหัวข้อหลักๆ หนึ่งคือเรื่องการตกลงอาณาเขตน่านน้ำสำหรับการประมง สองคือการบังคับใช้ร่างกฎหมายใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและสามคือขอบเขตของสัญญาฉบับใหม่ ดังนั้นยิ่งไม่มีข่าวดีเกี่ยวกับ Brexit ออกมาภายในสัปดาห์นี้อาจจะส่งผลให้ปอนด์ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป

 นอกจากสกุลเงินปอนด์แล้ว สกุลเงินยูโรก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากเช่นกันเนื่องจากการประชุมของธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป (ECB) ที่จะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินจากการล็อกดาวน์ในยูโรโซนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะความเสี่ยงนี้อาจทำให้นักลงทุนบางส่วนตัดสินใจออกจากตลาดเพื่อทำกำไรก่อนที่การประชุมนี้จะเริ่มขึ้นแม้ว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจของเยอรมันเมื่อวานนี้จะออกมาดีและหนุนให้ยูโรเทียบดอลลาร์สามารถขึ้นไปใกล้กับจุดสูงสุดในรอบสองปีครึ่งก็ตาม

 ถึง ECB จะยืนยันหนักแน่นที่จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ ก็ตาม นักลงทุนบางส่วนกลับมองว่า ECB ต้องอยู่เฉยไม่ได้แน่กับการแข็งค่าของยูโรและยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจนต้องล็อกดาวน์ในเดือนที่แล้ว ถึงจะมีวัคซีนแล้วแต่การแจกจ่ายวัคซีนนั้นไม่มีทางเร็วพอที่จะกดตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ในเร็วๆ นี้ เยอรมันจะยอมให้ร้านค้าสามารถเปิดทำการซื้อขายได้ในช่วงคริสต์มาสแต่หลังจากนั้นก็จะกลับมาปิดอีก เดนมาร์กยังมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดเชื่อว่า ECB จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและอาจจะเหลือพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับวางมาตรการต่อไปในอนาคต

สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์นิวซีแลนด์ปรับตัวสูงขึ้นเพราะได้รับแรงหนุนจากข้อมูลตัวเลขการผลิตของออสเตรเลียที่ออกมาดีและตัวเลขดุลบัญชีการค้าของจีนที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามดอลลาร์ออสเตรเลียก็ยังมีเรื่องความตึงเครียดทางการค้าระหว่างออสเตรเลียกับประเทศจีนเป็นตัวกดดันสกุลเงิน ประเทศจีนยังคงห้ามนำเนื้อเข้าจากออสเตรเลียและยังขึ้นกำแพงภาษีสูงถึง 200% กับการนำเข้าไวน์จากออสเตรเลียอยู่ นอกจากนี้ก็ยังห้ามนำเข้ากุ้งล็อบสเตอร์และชะลอการนำเข้าถ่านหินต่อไป ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือสินค้าสำคัญที่ออสเตรเลียทำกำไรได้จากจีนโดยตลอด ในขณะเดียวกันดอลลาร์แคนาดาก็สามารถแข็งค่าขึ้นได้เพราะตัวเลขภาคการผลิตมีการเติบโตแม้ว่าดัชนี PMI จาก IVEY ลดลงจาก 54.4 เป็น 52.7 ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือตัวเลขอัตราการจ้างงานที่ลดลงจาก 50.3 เป็น 48.1 เพราะนั่นหมายความว่าตัวเลขการจ้างงานในเดือนนี้อาจชะลอตัว

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES