นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ภายหลังร่วมประชุมการตรวจราชการของ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบ ZOOM เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ปฏิบัติการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 191 ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ว่า ในการประชุมครั้งนี้ภาคเอกชนภูเก็ตได้เสนอแนวทางในการให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กในภูเก็ต ที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการและให้บริการได้ในขณะนี้ เนื่องจาก ผู้ประกอบการเหล่านั้นยังขาดสภาพคล่องและขาดเงินที่จะลงทุนเปิดกิจการใหม่ โดยได้เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาให้การช่วยเหลือผ่านไปทางรองนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้ง“กองทุนเพื่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต”
ทั้งนี้ เพื่อให้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าต่อไปได้ ผู้ประกอบการจะต้องเปิดกิจการให้บริการนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก ทั้งรถบริการรับส่งนักท่องเที่ยว เรือ สปาโรงแรมขนาดเล็ก และอื่นๆ ที่ยังขาดเงินทุน เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายเล็กเหล่านี้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้จัดสรรเงินทุนกองทุนไว้ที่ 25,000 ล้านบาท จาก ติดเงื่อนไขหลายเรื่อง เช่นอยู่ในภาวะพักชำระหนี้ statement ไม่มีการเคลื่อนไหว หรือบางคนมีมูลหนี้ที่สูงมาก และผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้
ดังนั้น เพื่อให้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินต่อไปได้ และให้ผู้ประกอบการมีเงินในการลงทุนต่อ จึงได้ขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ในเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้ธุรกิจโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตเพื่อปรับปรุงและเข้าสู่ระบบตามกฎหมาย 2,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการรายย่อยและเอสเอ็มอี เช่น บริษัทัวร์ ร้านอาหาร สปา ร้านขายของที่ระลึก 1,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการขนส่งทั้งทางน้ำและทางบก เช่น ไถ่ถอนยานพาหนะที่ถูกยึดและเพื่อซ่อมแซมอีก 500 ล้านบาท
นายธเนศ ยังกล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ธุรกิจต่างๆ ด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภูเก็ต เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้เพียง 20% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 80% ยังปิดกิจการ จากที่ไม่มีเงินทุนในการเปิดรอบใหม่ และกิจการเหล่านี้อาจจะปิดถาวรก็ได้ และจากการสำรวจพบว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มใหญ่ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีถึง 62,000 กว่ากิจการ แบ่งเป็นนิติบุคคล 41,000 กิจการ หรือประมาณ 71% ส่วนที่เหลือเป็นการประกอบการส่วนบุคคล มีการจ้างงานในกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 230,000 คน จึงทำให้ธุรกิจขนาดย่อมและรายเล็กเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูเก็ตต่อไป!!!