ปัจจัยฉุดดอลลาร์อ่อนค่าสุดรอบกว่า 2 ปี

ปัจจัยฉุดดอลลาร์อ่อนค่าสุดรอบกว่า 2 ปี
Create at 4 years ago (Dec 18, 2020 11:15)

ดอลลาร์ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง และเทขายดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงแตะระดับ 89.767 ในวันพฤหัสบดี(17ธ.ค.) ซึ่งเป็นการดิ่งลงทะลุระดับ 90 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2561 เมื่อเวลา 22.26 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.52% สู่ระดับ 102.94 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.1% สู่ระดับ 126.08 เยน และดีดตัวขึ้น 0.43% สู่ระดับ 1.225 ดอลลาร์

ดอลลาร์ถูกกดดันจากหลายปัจจัยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ, การที่อังกฤษและสหภาพยุโรป (อียู) มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงการค้า รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านทางการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า การเจรจาระหว่างแกนนำในสภาคองเกรสประสบความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการออกกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาลอันเนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ (ชัตดาวน์) โดยกล่าวว่า “เรามีความคืบหน้าครั้งสำคัญ และผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถบรรลุข้อตกลงในไม่ช้า” นายแมคคอนเนลล์กล่าว

สมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตได้เห็นพ้องที่จะแยกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์ออกเป็นร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส โดยฉบับแรกจะมีวงเงิน 7.48 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผู้ที่ตกงานและธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ขณะที่อีกฉบับหนึ่งจะมีวงเงิน 1.60 แสนล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือมลรัฐต่างๆ

ด้านนายมิเชล บาร์นิเยร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายอียูว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากอียู (เบร็กซิท) เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษ และอียูยังคงมีความเป็นไปได้ พร้อมระบุว่า การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินไปในขณะนี้ เพื่อประสานความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นการประมง และกฎระเบียบที่จะนำมาใช้ต่อบริษัทต่างๆ อย่างเป็นธรรม

 

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES