ความเสี่ยงในตลาดสกุลเงินเพิ่มสูงขึ้นตามความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงในตลาดสกุลเงินเพิ่มสูงขึ้นตามความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
Create at 3 years ago (Dec 18, 2020 12:26)

"ดูเหมือนยิ่งมีข่าวว่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลลัพธ์ของการเจรจา Brexit มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนพากันถอยออกจากสกุลเงินสำรองของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐและเยนกันมากขึ้น คู่สกุลเงินที่พ่วงด้วยสกุลเงินทั้งสองและตลาดหุ้นต่างพากันปรับตัวสูงขึ้นยิ่งกว่าเดิมอย่างเช่นปอนด์ ดอลลาร์นิวซีแลนด์และดอลลาร์ออสเตรเลีย กราฟดัชนีดอลลาร์สหรัฐร่วงลงสู่จุดต่ำสุดในรอบสองปีกับอีกห้าเดือนแม้ว่าตัวเลขการอนุญาตก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น ดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดเฟียหดตัวลงอย่างน่าใจหายเหลือ 11.1 จาก 26.3 ที่สำคัญ นี่เป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกันแล้วที่จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นจากเดิม 853,000 คนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็น 885,000 คน

เมื่อมองจากตรงนี้ย้อนกลับไปก็เป็นเวลาแปดเดือนแล้วนับตั้งแต่สหรัฐฯ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก การเลือกตั้งพิเศษในรัฐจอร์เจียจเป็นตัวกำหนดว่าพรรคใดจะได้ครองสภาสูง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ นายมิตต์ แมคคอนเนล ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในสภาและนางแนนซี่ เพโลซี่ได้บอกกับเหล่าผู้มีส่วนร่วมในการร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าห้ามออกจากวอชิงตันไปไหนจนกว่าจะได้มาตรการช่วยเหลือชาวอเมริกันฉบับนี้ เพิ่มความเป็นไปได้ที่อาจจะได้เห็นข่าวดีภายในสัปดาห์หน้า แม้ว่าจำนวนเงิน $900,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐจะน้อยกว่าเงินช่วยเหลือในรอบแรก แต่แพคเกจนี้ก็ครอบคลุมไปถึงการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ที่ตกงาน มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าและทุน PPP สำหรับภาคธุรกิจ สำหรับนาทีนี้ขอเป็นมาตรการอะไรก็ได้ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

 ข้ามไปดูที่ฝั่งยุโรปกันบ้าง เรื่องที่นักลงทุนจับตามากที่สุดและยังหวังจะให้เกิดขึ้นอยู่คือการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแบบมีการทำสนธิสัญญา (with-deal Brexit) ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในวังวนของการพลิกไปพลิกมาราวกับไม่อ่านไลน์กลุ่มกันของเหล่าผู้มีส่วนร่วมในการทำสนธิสัญญา ในช่วงหัวค่ำของเมื่อวานนี้นายไมเคิล บาร์นเนอร์ หนึ่งในทีมเจรจาของสหภาพยุโรปกล่าวว่าการเจรจากำลังเป็นไปได้ด้วยดีในขณะที่ตัวแทนของฝั่งสหราชอาณาจักรก็พูดในทำนองที่คล้ายกันว่าจะต้องปิดดีลนี้ให้ได้ แต่ภายในวันเดียวกันนั้นเองสัญญาณเชิงลบก็ปรากฎอีกครั้งเมื่อนางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมธิการสหภาพยุโรปแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องน่านน้ำที่ยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ คำพูดของเธอเป็นไปในทำนองเดียวกันกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอห์นสันพูดก็คือว่า “การเจรจานี้อาจจะจบไม่สวย” 

การประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เมื่อวานนี้ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับปอนด์เลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยและไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินใดๆ ทั้งนั้น BoE มองว่าเพียงระยะเวลาสองสัปดาห์ที่เหลือก่อนปีใหม่ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการใดๆ หากเรื่อง Brexit ยังไม่ลงตัว วันนี้สหราชอาณาจักรจะมีรายงานตัวเลขยอดขายปลีกซึ่งการล็อกดาวน์ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอาจทำให้ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยหายไป 4.2% กราฟ EUR/USD ปรับตัวขึ้นเป็นเวลาหกวันติดต่อกันแม้จะมีข่าวยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในเยอรมันจนส่งผลให้ต้องออกมาตรการควบคุมใหม่อีกครั้ง ที่น่าสนใจก็คือว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ดังนั้นการรายงานตัวเลขดัชนี PMI ในวันนี้จึงเชื่อว่าจะดีขึ้นตามรายงานของ IFO แต่ต่อให้วันนี้ตัวเลขของฝั่งยูโรโซนออกมาลดลง อย่างมากกราฟ EURUSD ก็จะทำเพียงชะลอตัวเท่านั้น

สกุลเงินที่วิ่งแรงที่สุดเมื่อวานนี้คือดอลลาร์นิวซีแลนด์และดอลลาร์ออสเตรเลียอันเป็นผลมาจากการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ในไตรมาสที่สามขยายตัว 14% หลังจากที่ไตรมาสที่สองหดตัวไป -11% ออสเตรเลียมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 90,000 ตำแหน่งซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ 50,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้อัตราการว่างงานก็ลดลงจาก 7% เหลือ 6.8% นี่คือผลลัพธ์ที่ได้จากการปราบปรามโควิดอย่างจริงจังของทั้งสองประเทศ ในทางกลับกันสกุลเงินดอลลาร์แคนาดากลับอ่อนค่าแม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้น สาเหตุหลักมาจากนักลงทุนเสียขวัญจากแถลงการณ์ของผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาที่กล่าวว่าประเทศกำลังเสี่ยงที่จะต้องเจอกับการหดตัวทางเศรษฐกิจชั่วคราวเพราะการแพร่ระบาดของโควิด หากรายงานตัวเลขยอดค้าปลีกวันนี้ของแคนาดาลดลงก็อาจส่งผลให้กราฟ USDCAD ปรับตัวขึ้นต่อได้อีกเล็กน้อยในกรณีที่ดอลลาร์สหรัฐไม่อ่อนค่าลงไปมากกว่านี้"

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES