รายงานของ Citigroup (ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของสหรัฐอเมริกา) ได้ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนยังคงไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการระบาดที่รุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสที่ 2 เติบโตล่าช้าลงอย่างมาก อีกทั้ง ดัชนีการซื้อขายและส่งออกก็หดตัวลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนในช่วงครึ่งปีหลังได้เช่นเดียวกัน
Jin Kiaowen และ Yu Xiangrong นักวิเคราะห์ของ Citigroup ได้ระบุว่า การสั่งล็อกดาวน์ภายในประเทศจีนเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับการมีมาตรการการกักกันที่เข้มงวดขึ้นในทุกวัน ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก โดยการสั่งล็อกดาวน์นี้ สามารถชะลอการเติบโตของการผลิตภายในประเทศลงถึง 0.9% ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือน จากปัจจุบันนี้ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน
ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นนี้ สามารถขยายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นอีกได้ในอนาคต หากไม่รีบควบคุมการระบาดของไวรัสให้ดีขึ้นภายในเดือนเมษายนนี้ หรือ อีกแนวทางหนึ่งที่นักวิเคราะห์เห็นว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนได้ นั่นก็คือ ยกเลิกการล็อกดาวน์ที่เซี่ยงไฮ้ในเฟสที่ 2 นี้
ทั้งนี้ เกือบ 30% ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศจีนในตอนนี้ อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจาก คลื่นโควิดลูกนี้ฉุดการเติบโตของ GDP ในประเทศจีนลงถึง 1% ภายในระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกของปี
ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน จึงได้ให้คำมั่นสัญญาเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะพยายามลดค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่ ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ก็ได้ย้ำไปในทิศทางเดียวกันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นสำคัญมากและควรมาเป็นอันดับแรก จึงควรที่จะร่างแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมพร้อมจัดการกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมไปถึง ธนาคารกลาง ก็ได้ให้คำมั่นไว้ว่า จะยกระดับนโยบายการเงินและพยายามที่จะตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้าเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยังคงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตาม เนื่องจาก เหตุการณ์การระบาดนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน เป็นอย่างมาก