เช้านี้ (11 เมษายน 65) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.58 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.63 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงสัปดาห์วันหยุดยาว ส่งผลให้ธุรกรรมการซื้อขายเบาบาง ไร้ปัจจัยใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเตือนระวังผันผวนช่วงหยุดยาว
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.80 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่า จะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.65 บาท/ดอลลาร์
ขณะที่นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดว่า กรอบเงินบาทวันนี้จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.50 – 33.70 บาท/ดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่าน มีความเห็นอย่างสอดคล้องกันว่า ต้องระวังความผันผวนในกรอบกว้าง เนื่องจากปริมาณธุรกรรมการซื้อขายที่เบาบางลงในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งหากมีโฟลว์เข้ามาอาจจะทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวขึ้น-ลงแรงได้ กระนั้น พวกเขายังคงมองว่า เงินบาทจะแกว่งตัวแบบ “Sideways” จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามา
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า ควรติดตามสถานการณ์โควิด-19 ในไทยหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นได้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่น่าจับตามอง คือ ประเด็นกรมบัญชีกลางตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจกระทุ้งส่วนราชการเบิกจ่าย กระตุ้นลงทุนเร่งรัดก่อหนี้-บริหารสัญญาโครงการต่าง ๆ และประเด็นกองทุนน้ำมันฯ เตรียมดีเดย์ 1 พฤษภาคม 65 เลิกตรึงราคาขายปลีกดีเซล 30 บาท ทยอยปรับขึ้นแบบรัฐอุ้มครึ่งหนึ่ง พร้อมปรับเพดานตรึงราคาใหม่
ส่วนปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาทิ ด้านสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพื่อยุติความสัมพันธ์ทางการค้าที่ปกติกับรัสเซีย เมื่อวันที่ 8 เมษายน 65 ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากรัสเซีย
วันถัดมา 9 เมษายน 65 S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศของรัสเซียลงสู่ “ผิดนัดชำระหนี้บางส่วน” (Selective Default) ส่งผลให้บรรดานักลงทุนต่างรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมีนาคม ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่า จะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 8%
ด้านฝรั่งเศส ตลาดรอลุ้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง กับผู้ท้าชิง มารีน เลอ แปน หากผลออกมาสูสี ค่าเงินดอลลาร์อาจมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้าง
ด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครน รัสเซียได้แต่งตั้งผู้มีผลงานโดดเด่นในสงครามซีเรียเป็นผู้บัญชาการการรบในยูเครน ทำให้การคาดการณ์ที่ว่า รัสเซียถอยทัพชั่วคราวเพื่อวางแผนบุกโจมตียูเครนอีกครั้งยิ่งเด่นชัดขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน (ZEW Survey) ในเดือนเมษายน ดิ่งลงหนักสู่ระดับ -49 จุด ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงถึง 45.1% ในปีนี้
ด้านสัญญาณเงินเฟ้อ นักลงทุนต่างจับตามองการประชุมของธนาคารกลางหลายแห่งเพื่อหาสัญญาณเงินเฟ้อในสัปดาห์นี้ ทั้งธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบในข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่น่าติดตามเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุดยาว และไทยยังคงไร้ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวน แต่นักลงทุนยังต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ และปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ ค่อนข้างส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งหากเกิดขึ้นในช่วงนี้จะยิ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทมีการแกว่งตัวในกรอบกว้าง
Updated
2 years ago
(Apr 11, 2022 11:57)