พาวเวลล์เดินหน้าขึ้น ดบ. ทำตลาดผันผวนหนัก ฉุดทองปิดดิ่ง $21.00!! เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ทองปิดดิ่ง $21.00 เมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค. 65) ที่ผ่านมา เนื่องจากพาวเวลล์ส่งสัญญาณเดินหน้าคุมเข้มนโยบายทางการเงิน แม้ว่า Core PCE สหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเกินคาด ส่งให้ดอลลาร์แข็งค่า!! ฉุดทองดิ่งเทส Low $1,733.90 อีกทั้ง เช้านี้ (29 ส.ค. 65) ดอลลาร์แข็งเทส High ในรอบ 20 ปี จึงทำให้กดทองลงต่อเนื่อง เทส Low ในรอบกว่า 1 เดือน ที่ $1,725.40 ด้านกองทุน SPDR ถือทองไม่เปลี่ยนแปลง
เมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค. 65) ที่ผ่านมา ในงานประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ Jackson Hole รัฐไวโอมิง นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้กล่าวสุนทรพจน์ด้านนโยบายทางการเงิน โดยมีความเห็นที่แข็งกร้าวว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะ “ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย” ต่อไป!
โดยนโยบายที่คุมเข้มนี้มีเป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะมีการชะลอตัวลงแล้วในเดือน ก.ค. แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เฟดเชื่อมั่นว่า เงินเฟ้อได้ปรับตัวลงแล้ว เขากล่าวเสริมว่า “ประวัติศาสตร์เตือนว่า อย่าผ่อนคลายนโยบายการเงินก่อนเวลาอันควร” อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวในการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา ย่อมหมายถึงความเจ็บปวดที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ดังนั้นมันจึงจำเป็นต้องมีความเจ็บปวดบ้าง
ด้วยเหตุนี้ เฟดจึงมีความเห็นว่า จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และจะไม่ตัดทางเลือกในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่มากกว่าปกติในเดือน ก.ย. จากความเห็นดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดผันผวนอย่างหนัก และกดดันทองคำ
โดยในวันศุกร์ (26 ส.ค. 65) ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์ที่เป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.31% แตะที่ระดับ 108.8060 ก่อนที่เช้านี้ (29 ส.ค. 65) ดัชนีดอลลาร์จะพุ่งเทสระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี
ด้านดัชนี Dow Jones ปิดร่วงลง 1,008.38 จุด หรือ -3.03%, ดัชนี S&P500 ปิด -3.37% และดัชนี Nasdaq ปิด -3.94% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด 3.45% ซึ่งไม่ไกลจากระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน และระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 50
ปัจจัยกดดันทองคำ
นอกจากความเห็นของเฟดที่เป็นตัวกดดันทองคำแล้ว ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ดังนี้
1. Fed Funds Futures สะท้อนว่า มีโอกาส 64% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในเดือนหน้า และคาดว่า มีโอกาส 36% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในเดือนหน้า
2. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.2 ในเดือน ส.ค. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 55.1 จากระดับ 51.5 ในเดือน ก.ค.
3. นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก นายปีเตอร์ เฟียลา เปิดเผยว่า รัฐมนตรีพลังงานของสหภาพยุโรป จะจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน อันเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
ปัจจัยหนุนทองคำ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเห็นของเฟดจะเป็นตัวกดดันจนเป็นเหตุให้ทองคำปิดดิ่งในวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงมีปัจจัยหนุนทองคำอยู่บ้าง ดังนี้
1. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
2. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า เพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือน มิ.ย.
3. ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.8% และเมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% ตัวเลขดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาแสดงความยินดี เนื่องจากมันจะกลายเป็นปัจจัยหนุนทางการเมืองของเขา
4. สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า เรือรบของสหรัฐฯ 2 ลำ ได้แล่นผ่านช่องแคบระหว่างจีน-ไต้หวัน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ อาจจะก่อให้เกิดความขุ่นเคืองกับจีน
จากการที่เฟดมุ่งมั่นจะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แม้จะต้องเผชิญกับความสูญเสียของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทองคำปิดดิ่งในวันศุกร์ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ แต่ก็ยังไม่อาจทำให้ทองคำปิดบวกได้
อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยูโรโซนกำลังจะมีการเผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ข้อมูล PMI ของจีนก็คาดว่าจะชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแออย่างต่อเนื่องของพื้นที่เศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ดังนั้น นักลงทุนจึงควรมีการบริหารความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนให้ดี