หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อคุมเข้มอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางจากหลายประเทศได้ออกมาเดินตามรอยเฟด ด้วยการส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกัน
การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ Jackson Hole รัฐไวโอมิง เมื่อวันศุกร์ (26 ส.ค. 65) ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้แสดงจุดยืนที่เน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ในตอนต้น คือ การยับยั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เฟดตัดสินใจที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาของสหรัฐฯ จะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เป็นเหตุให้ธนาคารกลางของนานาประเทศได้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกับเฟดเช่นกัน
ธนาคารกลางยุโรป
สมาชิกคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) Isabel Schnabel ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับพาวเวลล์ว่า ปัจจุบันยุโรปกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่ระดับ 10% ขณะที่ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ก็ยังอยู่ในจุดที่ไม่น่าไว้วางใจ และภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้คนจะเริ่มสงสัยในเสถียรภาพระยะยาวของสกุลเงิน
เธอกล่าวเสริมอีกว่า การใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจะมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงขึ้นที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย กระนั้น “ธนาคารแต่ละแห่งก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก” และจากความเห็นของเธอ ทำให้มีการคาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือน ก.ย. ของ ECB มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75%
อีกทั้ง Francois Villeroy de Galhau สมาชิกสภาการกำกับดูแลของ ECB กล่าวในงานเดียวกันว่า ธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายจะต้อง “จริงจังกับการจัดการเงินเฟ้อ” ที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างโหดร้ายโดยไม่จำเป็นในภายหลัง
ธนาคารกลางเยอรมนี
ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนี Joachim Nagel กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นที่ชัดเจนว่าขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารกลางต้องทำในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสถานการณ์อันซับซ้อนในขณะนี้ยัง “เร็วเกินไปที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย”
ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์
ส่วนประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ Thomas Jordan ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจของปัจจุบัน อาจส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และ “จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง” ไปอีกหลายปี อีกทั้ง ยังมีสัญญาณว่า เงินเฟ้อกำลังแพร่กระจายไปยังสินค้าและบริการในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 หรือสงครามในยูเครนมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
ธนาคารกลางเกาหลีใต้
ฝั่งเอเชีย ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ Rhee Chang Yong ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อเช่นกัน ออกความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีใต้และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย “จะกลับสู่ภาวะเงินเฟ้อ” และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่หลาย ๆ ประเทศเผชิญร่วมกัน คือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญต่อการควบคุมเงินเฟ้อก่อนเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ต่างมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ รวมถึงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในที่แตกต่างกัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อจึงอาจแตกต่างกันด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในคู่สกุลเงิน หุ้น หรือสินทรัพย์ต่างประเทศ ควรติดตามข่าวสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงควรปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน