เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ตุลาคม 65) ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผย ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงเกินคาด คาดการณ์เงินเฟ้อ "พุ่งสูงขึ้น" หนุนดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง Bond Yield 10 ปี ยืน 4% เป็นเหตุให้ฉุดทองปิดลบ $1,640 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ในวันศุกร์ (14 ตุลาคม 65) ด้านกองทุน SPDR ถือทองลดลง -3.18 ตัน
การร่วงลงของทองคำครั้งนี้ มีปัจจัยกดดันหลัก ๆ คือ
1) ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ (CCI) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 58.6 ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 59.0 ด้านผู้บริโภค คาดการณ์เงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าระดับ 4.7% ที่สำรวจในเดือนกันยายน
2) รายงานอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงเกินคาด กระตุ้น Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง และคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของ Fed จะแตะระดับสูงสุดในปี 66 ใกล้ระดับ 5%
3) ประธาน Fed เซนต์หลุยส์ แสดงความเห็นว่า รายงานเงินเฟ้อที่ร้อนแรงไม่ได้แปลว่า Fed จะต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าเดิม แต่เป็นการตอกย้ำว่า Fed จะยังคง "ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง" เพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป
4) ดัชนีดอลลาร์แข็งขึ้น 0.84% แตะที่ระดับ 113.30 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นเหนือ 4.0%
5) เงินปอนด์ร่วงหนัก หลัง Liz Truss นายกรัฐมนตรีอังกฤษสั่งปลด รมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง และยกเลิกแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนในช่วงที่ผ่านมา
6) Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย เผยว่า รัสเซียไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโจมตียูเครนอีก ลั่นรัสเซียไม่ได้จ้องจะทำลายยูเครน
7) สัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กปิดลบ ร่วงหนัก เนื่องจากถูกกดดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับความต้องการพลังงานมีแนวโน้มอ่อนลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายงานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะกดดันทองคำอย่างหนัก แต่ก็ยังคงมีปัจจัยหนุนทองคำอยู่บ้าง ดังนี้
1) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผย ยอดค้าปลีกในเดือนกันยายน “ทรงตัว” ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
2) ดัชนี Dow Jones ปิดลดลง -1.34%, ดัชนี S&P500 ปิด -2.37% และดัชนี Nasdaq ปิด -3.08%
3) Xi Jin Ping ประธานาธิบดีจีน แสดงความมุ่งมั่นที่จะรวมประเทศกับไต้หวัน โดยไม่สนวิธีการ แม้จะต้องใช้กำลัง
แม้ว่าทองคำจะมีปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อ, ความต้องการพลังงาน และปัจจัยภายนอกอื่น ๆ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยหนุนอยู่บ้างเช่นกัน อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงต้องจับตามองการประชุม Fed ครั้งต่อไป รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ของสหรัฐฯ และปัญหาระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น อย่าลืมติดตามสถานการณ์ และเพิ่มความระมัดระวังให้พอร์ตการลงทุนด้วยนะครับ
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog