ข่าวราคาทองคำวันนี้ 21 ตุลาคม 2022
ราคาทองคำเมื่อวานนี้ปิดปรับตัวทรงตัวแทบไม่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ราคาทองคำเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย จนทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,622.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ราคาทองจะฟื้นตัวในระหว่างวัน โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อ Buy the dip และการพักตัวทางเทคนิคของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และดัชนีดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ทองคำยังได้อานิสงส์เชิงบวกจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นในทันทีที่มีข่าวว่า ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว หนุนให้ทองคำดีดตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,645.47 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นอีกครั้งจนแตะ 4.228% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2008
ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป หลังจากตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 230,000 ราย ซึ่งสะท้อนว่าตลาดแรงงานยังคงมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวถูกตอกย้ำด้วยถ้อยแถลงในเชิง Hawkish ของ แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งฟิลาเดลเฟีย ที่กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า กระบวนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด "ยังไม่เสร็จสิ้น" ประกอบกลับเงินปอนด์กลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง นั่นทำให้ทองคำปรับตัวลงมาปิดทรงตัวในที่สุด ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองค่ำลดลง -1.74 ตัน สำหรับวันนี้
การร่วงลงของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยกดดัน ดังนี้
1. ประธานเฟดฟิลาเดลเฟียหนุนขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่สามารถสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อได้เลย ดังนั้น เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป "เราต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเรารู้สึกผิดหวังต่อการขาดความคืบหน้าในการสกัดเงินเฟ้อ ผมคาดว่าเราต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ 4% ภายในปลายปีนี้" ฮาร์เกอร์กล่าว ทางด้านนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิถุนายน ฮาร์เกอร์ระบุว่า เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้น เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ
2. สหรัฐฯ เผยยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 8
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 1.5% สู่ระดับ 4.71 ล้านยูนิตในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือนซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน เมื่อเทียบรายปียอดขายบ้านดิ่งลง 23.8% ในเดือนกันยายน
3. สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาดสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย
4. บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ดีดตัว นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจ
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อหาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ณ เวลา 23.28 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.18% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.18% เช่นกัน
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยหนุน ดังนี้
1. ปอนด์แข็งค่า รับข่าวนายกฯ อังกฤษลาออก
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (20 ตุลาคม 2022) หลังจาก ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินลดลง 0.1% แตะที่ 112.8700 เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1216 USD จากระดับ 1.1214 USD ขณะที่ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9785 USD จากระดับ 0.9771 USD ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6281 USD จากระดับ 0.6270 USD ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0039 CHF จากระดับ 1.0041 CHF และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3763 CAD จากระดับ 1.3764 CAD แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 150.15 JPY จากระดับ 149.89 JPY
2. ดาวโจนส์ปิดลบ 90.22 จุด หวั่นเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (20 ตุลาคม 2022) เนื่องจากข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้นักลงทุนกังวลว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกต่อไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะถดถอย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,333.59 จุด ลดลง 90.22 จุด หรือ 0.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,665.78 จุด ลดลง 29.38 จุด หรือ -0.80% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,614.84 จุด ลดลง 65.66 จุด หรือ -0.61%
3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งฟิลาเดลเฟียเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำกว่าคาดในเดือนตุลาคม
ธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -8.7 ในเดือนตุลาคมจากระดับ -9.9 ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคการผลิตดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0
จากข้อมูลที่ทางทีมงาน Fxtoday รวบรวมมาจะเห็นได้ว่า ทองคำยังคงกดดันจากการเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ที่รายงานออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางกลับกัน ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ส่งผลให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ทองคำได้รับแรงหนุนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนทุกท่าน และอย่าลืมบริหารความเสี่ยงกันด้วยนะครับ ขอให้โชคดีครับ
____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: News
Updated
2 years ago
(Oct 21, 2022 12:11)