ข่าวราคาทองคำวันนี้ 25 ตุลาคม 2022
ราคาทองคำเมื่อวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 8.14 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าช่วงเช้าของตลาดเอเชียราคาทองคำจะพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,669.77 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ หลังเงินเยนฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง ขานรับการที่ทาญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการทุ่มซื้อเงินเยนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ราคาทองคำอ่อนตัวลงหลังจากนั้น โดยได้รับแรงกดดันส่วนหนึ่งจากแรงขายกำไร ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนหดตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีในเดือนตุลาคม ประกอบกับหยวน Offshore ดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่เป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 3 ได้สำเร็จ และรายชื่อคณะผู้บริหารระดับสูงยังคงมีแนวโน้มที่จะยึดมั่นในนโยบาย Zero-COVID และนโยบายสนับสนุนภาครัฐมากกว่าการเติบโตของภาคเอกชน สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ดัชนีดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในระหว่างวัน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำให้เกิดการพักตัวลง แม้ว่า S&P Global จะเปิดเผยตัวเลขดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลว่า เฟดจะคงจุดยืนที่แข็งกร้าวในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อต่อไป นั่นทำให้การปรับตัวขึ้นของทองคำยังเป็นไปอย่างจำกัด ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +0.29 ตัน สำหรับวันนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก CB และดัชนีภาคการผลิตเดือนตุลาคม จากธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งริชมอนด์
การร่วงลงของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยกดดัน ดังนี้
1. น้ำมันดิบ WTI ปิดลบ 47 เซนต์ กังวลจีนชะลอการนำเข้าน้ำมันดิบ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (24 ตุลาคม 2022) หลังจากจีนเปิดเผยยอดนำเข้าน้ำมันดิบชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบขยับลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 84.58 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 24 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 93.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
2. ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 417.06 จุด นักลงทุนคลายกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันจันทร์ (24 ตุลาคม 2022) โดยตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว หลังมีรายงานว่ากิจกรรมทางธุรกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในเดือนตุลาคม ซึ่งบ่งชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และควบคุมเงินเฟ้อนั้นเริ่มได้ผล ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,499.62 จุด พุ่งขึ้น 417.06 จุด หรือ +1.34%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,797.34 จุด เพิ่มขึ้น 44.59 จุด หรือ +1.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,952.61 จุด เพิ่มขึ้น 92.90 จุด หรือ +0.86%
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยหนุน ดังนี้
1. "ริชิ ซูนัก" คว้าเก้าอี้นายกฯ อังกฤษคนใหม่ตามคาด
พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษประกาศให้ ริชิ ซูนัก อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในวันนี้ ซึ่งจะทำให้ ริซิ ซูนัก ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษโดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคอนุรักษ์นิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ
2. ดอลลาร์อ่อนค่า หลังตลาดคาดการณ์การชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยนในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (24 ตุลาคม 2022) หลังมีรายงานว่าดัชนีภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินลดลง 0.03% แตะที่ระดับ 111.9600 ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.9875 USD จากระดับ 0.9860 USD ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1282 USD จากระดับ 1.1302 USD ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6312 USD จากระดับ 0.6377 USD ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 148.82 JPY จากระดับ 147.64 JPY และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 1.0009 CHF จากระดับ 0.9976 CHF นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3710 CAD จากระดับ 1.3638 CAD
3. คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียด! เหนือ-ใต้แลกกันยิงปืนใหญ่ เตือนใกล้พรมแดน
เกาหลีเหนือและใต้กล่าวว่า ได้ยิงปืนใหญ่เตือนไปยังอีกฝั่งของเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างสองประเทศ บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี ถือเป็นความตึงเครียดทางทหารล่าสุดในภูมิภาคนี้ กองทัพเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ได้ยิงปืนใหญ่เตือนไปยังเรือสินค้าของเกาหลีเหนือที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตเส้นแบ่งทางเหนือหรือ NLL (Northern Limit Line) ซึ่งเป็นเขตพรมแดนทางทะเลของสองประเทศ เมื่อเวลาประมาณ 3:42 น. เช้าวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนที่เรือเกาหลีเหนือจะหันลำกลับไปทางเหนือ และอีกประมาณ 90 นาทีต่อมา เกาหลีเหนือได้ยิงปืนใหญ่ 10 ลูกจากเครื่องยิงจรวดเพื่อตอบโต้ที่มีเรือของกองทัพเกาหลีใต้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนของเกาหลีเหนือเช่นกัน ตามรายงานของกองทัพเกาหลีเหนือ
4. ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐฯ หดตัวเป็นเดือนที่ 4
S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.3 ในเดือนตุลาคมซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 49.5 ในเดือนกันยายน ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ดัชนี PMI ถูกกดดันจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 28 เดือน จากระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นอยู่ที่ 46.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 49.3 ในเดือนกันยายน
5. นักลงทุนหั่นคาดการณ์เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนธันวาคม
นักลงทุนลดคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม หลังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 53.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม วันที่ 13-14 ธันวาคม ลดลงจากเดิมที่เคยให้น้ำหนักมากถึง 75%
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog