ข่าวราคาทองคำวันนี้ 2 พฤศจิกายน 2022
ราคาทองคำเมื่อวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.02 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ทั้งนี้ราคาทองคำอ่อนตัวลงก่อนในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย โดยปรับตัวลดลงทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์บริเวณ 1,630.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเริ่มมีแรงซื้อ Buy the dip เข้ามาหนุน ขณะที่ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 4% จากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมที่กำลังจะเสร็จสิ้นลงในคืนนี้ พร้อมกับจะส่งสัญญาณว่าจะ “ชะลอ” การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมถัด ๆ ไป เพื่อประเมินผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยที่เกิดต่อเศรษฐกิจ สถานการณ์ดังกล่าวหนุนทองคำให้ทะยานขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,656.86 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนขายทำกำไรในทองคำ ประกอบกับสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา “ดีเกินคาด” ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM ที่ “ปรับตัวลงน้อยกว่าคาด” และตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นสวนทางการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่งบั่นทอนการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต จนเป็นปัจจัยที่กลับมาหนุนให้ดัชนีดอลลาร์และบอนยีลด์ 10 ปีฟื้นตัว ส่งผลกดดันให้ราคาทองคำลดลงจากช่วงบวก ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -1.45 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP พร้อมจับตามติการประชุมเฟดในเวลาตี 1 ของคืนวันนี้ คาดเฟด “ขึ้น” ดอกเบี้ย 75 bps รวมไปถึงติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดในเวลาตี 1 ครึ่งว่าจะส่งสัญญาณ “ชะลอ” การขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต (แรงหนุนทอง) หรือจะยังคงส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย “อย่างแข็งกร้าว” ต่อไป (กดดันทอง)
การร่วงลงของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยกดดัน ดังนี้
1. สหรัฐฯ เปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกันยายน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 0.5% หลังจากลดลง 0.6% ในเดือนสิงหาคม
2. สหรัฐฯ เผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน สวนทางกับการคาดการณ์
สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงาน และอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 437,000 ตำแหน่งสู่ระดับ 10.7 ล้านตำแหน่งในเดือนกันยายน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครจะลดลงสู่ระดับ 9.85 ล้านตำแหน่ง
3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในเดือนตุลาคม
S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 52.0 ในเดือนกันยายน แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 49.9
4. ISM เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนตุลาคม
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.2 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 50.9 ในเดือนกันยายน
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยหนุน ดังนี้
1. ยูเครนเรียกร้องขับไล่รัสเซียออกจาก G20
ยูเครนเรียกร้องให้มีการขับรัสเซียออกจากกลุ่ม G20 และควรยกเลิกคำเชิญประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซีย ปูตินยอมรับเองว่า "ได้สั่งการให้มีการยิงขีปนาวุธโจมตีพลเรือน และแหล่งสาธารณูปโภคด้านพลังงานของยูเครน ซึ่งจากการที่เขามีมือที่เปื้อนเลือด เขาจึงไม่ควรได้รับอนุญาตให้นั่งในห้องประชุมร่วมกับผู้นำคนอื่น ๆ ของโลก โดยควรมีการยกเลิกคำเชิญปูตินเข้าร่วมการประชุม G20 และรัสเซียควรถูกขับออกจาก G20" โอเลก นิโคเลนโค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครนกล่าว
2. "เซอร์เก ลาฟรอฟ" ยืนยันไม่มีใครสามารถบ่อนทำลายเศรษฐกิจและการเมืองรัสเซีย
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดสามารถขัดขวางเศรษฐกิจรัสเซีย หรือบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมืองในรัสเซีย และระบุว่า แม้นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน แต่รัสเซียก็สามารถเอาชนะความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่
3. ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจับตาผลการประชุมเฟด
ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (1 พ.ย.) ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐฯ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินลดลง 0.04% แตะที่ระดับ 111.4800 ยูโร แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9888 USD จากระดับ 0.9887 USD ขณะที่เงินปอนด์ แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1479 USD จากระดับ 1.1470 USD ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 148.18 JPY จากระดับ 148.62 JPY และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9997 CHF จากระดับ 1.0016 CHF นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3616 CAD จากระดับ 1.3627 CAD และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 11.0160 SEK จากระดับ 11.0451 SEK
4. ดัชนีดาวน์โจนส์ปิดลบ 79.75 จุด นักลงทุนกังวลข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งหนุนเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (1 พฤษศจิกายน 2022) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นในเดือนกัยายน ซึ่งบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,653.20 จุด ลดลง 79.75 จุด หรือ -0.24%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,856.10 จุด ลดลง 15.88 จุด หรือ -0.41% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,890.85 จุด ลดลง 97.30 จุด หรือ -0.89%
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog