ข่าวราคาทองคำวันนี้ 11 พฤศจิกายน 2022
ราคาทองคำเมื่อวานนี้ปิดทะยานขึ้น 48.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นในทันทีที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 7.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% และชะลอตัวจากระดับ 6.6% ในเดือนกันยายน สะท้อนชัดเจนว่า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม เห็นได้จาก FedWatch Tool ที่บ่งชี้ว่า มีโอกาสสูงถึง 80.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 50 bps ในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคม ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 3.818% และเป็นการร่วงลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปีของสหรัฐฯ
ซึ่งสะท้อนการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยร่วงลงเช่นกันสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 4.29% และเป็นการร่วงลงรายวันที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2008 จนสร้างแรงหนุนให้แก่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยเพิ่ม จนเป็นที่มาที่ทำให้ทองคำทะยานขึ้นผ่านระดับสูงสุดของเดือนกันยายน และตุลาคม จนกระตุ้นแรงซื้อทางเทคนิคเพิ่ม ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดอยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 1,757.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +3.19 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากมหาลัยมิชิแกน แต่ปริมาณการซื้อขายในตลาดสหรัฐฯ อาจบางกว่าปกติ เพราะภาคธนาคาร รวมถึงตลาดบอนด์จะปิดทำการเนื่องในวันทหารผ่านศึก (Veterans Day) แต่ตลาดทุน ตลาดเงินตลาดทองสหรัฐฯ เปิดตามปกติ
การร่วงลงของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยกดดัน ดังนี้
1. ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 1,201.43 จุด รับเงินเฟ้อชะลอตัว-คาดเฟดผ่อนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทะยานขึ้นกว่า 1 พันจุด ในวันพฤหัสบดี (10 พฤศจิกายน 2022) ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดพุ่งขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ขานรับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,715.37 จุด พุ่งขึ้น 1,201.43 จุด หรือ +3.70%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,956.37 จุด เพิ่มขึ้น 207.80 จุด หรือ +5.54% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,114.15 จุด พุ่งขึ้น 760.97 จุด หรือ +7.35%
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยหนุน ดังนี้
1. ดอลลาร์สหรัฐร่วงหนัก คาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขาย ที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (10 พฤศจิกายน 2022) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 2.12% แตะที่ระดับ 108.2040 ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 141.84 เยน จากระดับ 146.64 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9666 ฟรังก์ จากระดับ 0.9857 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3352 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3534 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.6139 โครนา จากระดับ 10.8935 โครนา ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0183 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0005 ดอลลาร์ และ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1696 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1344 ดอลลาร์
2. บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลุด 4% เก็งเฟดผ่อนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 4% ในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ณ เวลา 23.59 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ ระดับ 3.848% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.118%
3. ประธานเฟดดัลลัสชู CPI ต่ำคาดน่ายินดี แต่ยังอีกยาวไกลในการต่อสู้เงินเฟ้อ
ลอรี โลแกน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ แห่งดัลลัส กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ยังคงมีหนทางอีกยาวไกลที่เฟดจะต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป "ตัวเลข CPI ในวันนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่เรายังคงมีหนทางที่ต้องเดินอีกยาวไกล" "ดิฉันเชื่อว่าในไม่ช้าเฟดจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เราสามารถประเมินการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจและการเงิน" โลแกนกล่าว
4. สหรัฐฯ เผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการวางงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 7,000 ราย สู่ระดับ 225,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 220,000 ราย
5. นักลงทุนเทน้ำหนักเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% เดือนหน้า หลังเผยเงินเฟ้อต่ำคาด
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคม และให้น้ำหนักเพียง 19.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
6. สหรัฐฯ เผยดัชนี CPI +7.7% เดือนตุลาคม ต่ำกว่าคาดการณ์
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม ในวันนี้ โดยตัวเลข CPI ดังกล่าวต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 7.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ คาดการณ์ที่ระดับ 7.9% และชะลอตัวจากระดับ 8.2% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% จากระดับ 0.4% ในเดือนกันยายน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 6.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปีต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% และชะลอตัวจากระดับ 6.6% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือนดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนตุลาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% จากระดับ 0.6% ในเดือนกันยายน
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog