เมื่อวานนี้ (17 พฤศจิกายน 65) ทองร่วงแตะ $1,754.41 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมา “ดีเกินคาด” ประกอบกับถ้อยแถลงที่ “แข็งกร้าว” ของเฟดในการจัดการเงินเฟ้อ ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทันที ส่วน Bond Yield 10 ปี ก็ฟื้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ด้านกองทุน SPDR ถือทองไม่เปลี่ยนแปลง
FedWatch Tool ของ CME Group
“ปัจจัยกดดันทองคำ” ส่วนใหญ่มาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ ซึ่งประกอบด้วยข่าวต่อไปนี้
1) ดัชนีดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.39% แตะที่ 106.6930 หลังถ้อยแถลงของเฟดบั่นทอนการคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจชะลอความแข็งกร้าวในการคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว
2) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 4.2% ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 2.4% ในเดือนตุลาคม แต่ตัวเลขทั้งสองยังคงสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
3) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 222,000 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
4) เฟดแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 4.4% ในไตรมาส 4 สูงกว่าระดับ 4.0% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้า
5) ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ ยังไม่ได้อยู่ในกรอบการคุมเข้มที่มากพอ ดังนั้น เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.00%-5.25% เป็นอย่างน้อย เพื่อให้อยู่ในระดับเข้มงวดเพียงพอในการควบคุมเงินเฟ้อ
6) ประธานเฟดมินนิอาโปลิส กล่าววานนี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยได้สูงสุดแค่ไหน แต่เฟดยังไม่ควรหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าเงินเฟ้อจะผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว
7) FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 19% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 15%
8) Bond Yield อายุ 10 ปี ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ที่ 3.671% ขานรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาด ประกอบกับถ้อยแถลงที่แข็งกร้าวของเฟด
อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมี “ปัจจัยหนุนทองคำ” อยู่เช่นเดียวกัน ดังนี้
1) ดัชนี Dow Jones ปิดลดลง 7.51 จุด หรือ -0.02%, ดัชนี S&P500 ปิด -0.31% และดัชนี Nasdaq ปิด -0.35% หลังเจ้าหน้าที่เฟดสนับสนุนให้เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย
2) เฟดฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดิ่งลงสู่ระดับ -19.4 ในเดือนพฤศจิกายน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 63 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
3) พรรครีพับลิกัน สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาผู้เเทนราษฎรสหรัฐฯ หลังกำชัยในการเลือกตั้งกลางเทอม
4) รัสเซียวางแผนถล่มโครงสร้างพลังงานของยูเครนในวันพฤหัสบดี พร้อมกับยกระดับการโจมตีทางภาคตะวันออกของยูเครน
จะเห็นได้ว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดีเกินคาด แต่หลายฝ่ายก็เห็นพ้องว่า เฟดควรจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่อาจยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ดังนั้น นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้แล้ว นักลงทุนยังควรจับตามองการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคมต่อไป เพราะจากการคาดการณ์ที่ถูกนำเสนอผ่าน ๆ มา เฟดน่าจะยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ย ส่วนปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรัสเซีย - ยูเครน ก็ยังคงน่าเป็นห่วงเช่นกัน
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog