ข่าวราคาทองคำวันนี้ 24 พฤศจิกายน 2022
ราคาทองคำเมื่อวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาแกว่งตัวผันผวนตามการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ ราคาทองคำปรับตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,729.41 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวหลังจากนั้น เนื่องจากตัวเลขขอสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 240,000 รายสะท้อนว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพิ่มชะลอตัวลง ขณะที่ S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 47.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 เดือนและต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 50.0 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นอยู่ที่ 46.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 48.0 บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางธุรกิจของสหรัฐฯ หดตัว 5 เดือนติดกัน ประกอบกับรายงานการประชุมเดือนพฤศจิกายน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบาย "ส่วนใหญ่ (substantial majority)" เห็นด้วยว่าเป็นการ "เหมาะสม" ที่ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ในเร็ว ๆ นี้ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 50 bps ในการประชุมเดือนธันวาคม จนกดดันดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 0.98% ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการทะยานขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,753.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดเงิน, ตลาดทุน และตลาดทองคำของสหรัฐฯ จะปิดทำการในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) ทำให้ปริมาณการซื้อขายจะเบาบางกว่าปกติ
การร่วงลงของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยกดดัน ดังนี้
1. ดัชนีดาวโจนส์ปิดเพิ่มขึ้น 95.96 จุด หรือ +0.28%, ดัชนี S&P500 ปิด +0.59% และดัชนี Nasdaq ปิด +0.99% หลังจากรายงานการประชุมเดือนพฤศจิกายน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
2. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกันยายน
3. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนตุลาคม หลังจากลดลง 0.8% ในเดือนกันยายน
4. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 7.5% สู่ระดับ 632,000 ยูนิตในเดือนตุลาคม สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 570,000 ยูนิต
5. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 56.8 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 59.9 ในเดือนตุลาคม แต่สูงกว่าตัวเลขดัชนีเบื้องต้นที่ระดับ 54.7
6. สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพุธ (23 พฤศจิกายน) หลังมีรายงานว่ากลุ่มประเทศ G7 เตรียมกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไม่ให้เกิน 70 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากสต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นมากกว่าคาด รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีน
การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ มีสาเหตุและปัจจัยหนุน ดังนี้
1. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ซึ่งระบุว่า แม้กรรมการเฟดตระหนักว่าตัวเลขเงินเฟ้อยังไม่ได้ส่งสัญญาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่กรรมการเฟดส่วนใหญ่ (Substantial Majority) มีความเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่อง "เหมาะสม" ที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ในเร็ว ๆ นี้" เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจ
2. ดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 0.98% หลังจากรายงานการประชุมเดือนพฤศจิกายน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระบุว่า คณะกรรมการเฟดเห็นพ้องว่า ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
3. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงสู่ระดับ 3.711% หลังรายงานการประชุมเดือนพฤศจิกายน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบาย "ส่วนใหญ่ (Substantial Majority)" เห็นด้วยว่าเป็นการ "เหมาะสม" ที่ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ในเร็ว ๆ นี้"
4. S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 47.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 เดือน จากระดับ 50.4 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 50.0
5. S&P Global เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเบื้องต้นอยู่ที่ 46.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 47.8 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 48.0
6. กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 17,000 ราย สู่ระดับ 240,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย
7. ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 5.0% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog