เป็นความจริงหรือไม่ที่นักลงทุนมักเทตลาดก่อนสิ้นปี?

เป็นความจริงหรือไม่ที่นักลงทุนมักเทตลาดก่อนสิ้นปี?
Create at 3 years ago (Dec 24, 2020 12:29)

โดยปกติแล้ว นักลงทุนมักจะเลือกปิดออเดอร์เพื่อทำกำไรในช่วงก่อนสิ้นปี ประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เราประเมินว่านักลงทุนในตลาดจะเทขายออเดอร์เร็วขึ้นเพราะกลัวความไม่แน่นอนในเรื่องโควิดกลายพันธุ์และความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit แต่จนถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นหลักฐานความกลัวของนักลงทุนตามที่เรากังวลเลย ตลาดหุ้นยังคงสามารถปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกับตลาดสกุลเงินบนความเชื่อที่ว่าวัคซีนที่ออกมาจะสามารถใช้ได้กับโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์นี้ได้ด้วยเช่นกัน 

ดราม่าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่จบเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขอมีส่วนร่วมไม่ลงนามอนุมัติมาตรการฉบับนี้ เขาให้เหตุผลว่าชาวอเมริกันควรได้รับเงินเยียวยาที่มากกว่านี้ หลังจากนั้นสภาก็ตอบโต้ทันทีทันควันโดยบอกว่าประชาชนจะได้เงินเยียวยาคนละ $2,000 โดยตรงซึ่งแน่นอนว่าต้องเจอ สส.รีพับลิกันบางคนคัดค้าน สุดท้ายก็กลับมาที่เดิมว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงเอยอย่างไร ยิ่งสภาสหรัฐฯ ลากเรื่องนี้ออกไปยาวเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะถูกเทขายในสัปดาห์หน้าก็มีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

อันที่จริงแล้วไม่ใช่ทุกปีที่ตลาดหุ้นจะถูกเทขายในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่ จากสถิติที่เก็บข้อมูลมาในช่วง 15 ปีล่าสุดพบว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั่นขึ้นเพียงเก้าครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่มีการเทขายก็จะเริ่มต้นขึ้นหลังจากวันคริสต์มาสเป็นส่วนใหญ่ หากมีการเทขายเกิดขึ้นจริงในปีนี้ ความน่าสนใจจะเกิดขึ้นทันทีในปีหน้าเพราะตลาดหุ้นจะดีดตัวกลับขึ้นมาแรงบนความหวังที่ว่าปี 2021 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นไปได้ว่าหากมีการเทขายเกิดขึ้นหลังคริสต์มาส อาจเป็นขาลงในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ในวันพุธที่ผ่านมา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนมูลค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ทุกตัว แม้ว่าตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นน้อยลงกว่าที่คาด แต่ก็ยังมีผู้มาขอรับสวัสดิการฯ เกิน 800,000 คนและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ กลับออกมาลดลงหมด ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนชะลอตัว ตัวเลขรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลลดลง ยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ในเดือนพฤศจิกายนกลับร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้แต่ตัวเลขดัชนีวัดบรรยากาศความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยมหาลัยมิชิแกนก็ยังปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน

สกุลเงินปอนด์คือสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อคืนนี้ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนยังคงหวังจะได้เห็น Brexit แบบมีการทำสนธิสัญญาเกิดขึ้นแม้ว่าจะใกล้เดตไลน์เข้ามาทุกที ตราบใดที่นาฬิกาไม่หยุดเดิน นักลงทุนก็จะไม่หยุดหวัง เชื่อว่าไม่เกินคืนนี้เราจะได้ทราบกันแล้วว่าสรุปจะเป็น Brexit แบบไหนกันแน่ หากการเจรจาจบลงที่ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เราจะเห็นตลาดหุ้นทั่วโลกและสกุลเงิน GBP ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญขานรับข่าวดีดังกล่าว กราฟ GBP/USD อาจขึ้นไปแตะ 1.40 ได้ง่ายๆ ส่วนกราฟ EUR/GBP อาจวิ่งลงไปต่ำกว่า 85 เซนต์ ในทางกลับกันหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ ก่อนอื่นต้องมาดูว่าทั้งสองฝ่ายจะยังอยากเจรจากันต่อในปีหน้าหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ตลาดก็อาจไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก แต่ถ้าตัดสินใจไม่เจรจา Brexit กันอีกต่อไป สกุลเงินปอนด์อาจร่วงลง 3% - 5% ได้เลยทีเดียว

เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าก็เป็นโอกาสของสกุลเงินที่พึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลักได้โอกาสปรับตัวขึ้น ครั้งนี้สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์คือผู้ที่แข็งค่ามากที่สุด ตัวเลข GDP ของแคนาดาในเดือนตุลาคมดีขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ แต่ถึงอย่างนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้กราฟ USD/CAD สามารถปรับตัวลงต่อได้เป็นครั้งแรกในรอบสี่วันล่าสุด

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES