สเตอร์ลิงอังกฤษแข็งค่าท่ามกลางความคาดหวังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
เงินสเตอร์ลิงอังกฤษล่าสุดปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปรับตัวลดลง จากความเชื่อในตลาดการเงินที่คาดว่าธนาคารแห่งอังกฤษ (BoE) มีแนวโน้มที่จะดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่คาดว่าจะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยยังมีความไม่แน่นอนและอาจไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นกำหนดที่จะมีการประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายครั้งต่อไป
ทางด้านองค์กร Resolution Foundation ได้เสนอรายงานให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณาเพิ่มเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษในอนาคตจาก 2% เป็น 3% โดยการปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยให้ธนาคารกลางมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และลดความตึงเครียดในด้านการเงินสาธารณะ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งอังกฤษสามารถใช้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม องค์กรดังกล่าวได้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย หลังจากที่ธนาคารแห่งอังกฤษสามารถบรรลุการเติบโตของราคาที่ 2% ได้เท่านั้น เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง
รายงานยังชี้ให้เห็นว่าการทบทวนกรอบการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษอาจเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรที่คาดการณ์ไว้ในปี 2024 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายเงินเฟ้ออาจจำต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อค่าเงินปอนด์อังกฤษเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร ในขณะที่รายงานเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มความยืดหยุ่นของนโยบายการเงิน และเตือนว่าระดับหนี้ของรัฐบาลอาจเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอาจสูงถึง 190% ของรายได้ประชาชาติในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน หนี้รัฐบาลอังกฤษอยู่ที่เกือบ 100% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับวิกฤตการเงินก่อนปี 2551 ที่ต่ำกว่า 40%
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษแตะระดับสูงสุด 11.1% ต่อปีในปีที่แล้ว และยังคงอยู่ที่ 6.7% ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเป็นปัจจัยหลักที่ขัดขวางการลดลงของอัตราเงินเฟ้อประจำปี นอกจากนี้ ตัวชี้วัดสำคัญอื่นๆ ที่ได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดโดยธนาคารกลางอังกฤษ เช่น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาบริการ ยังคงแสดงตัวเลขที่แข็งแกร่ง สร้างความกังวลให้กับผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับแรงกดดันด้านราคาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
สัญญาณของความวุ่นวายทางเศรษฐกิจอังกฤษอีกประการหนึ่งยังสามารถสังเกตได้ในตลาดแรงงาน จากการเติบโตของค่าจ้างปกติในอังกฤษที่ชะลอตัวลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และตำแหน่งงานว่างที่ลดลง ในขณะที่ธนาคารแห่งอังกฤษติดตามข้อมูลรายได้เฉลี่ยอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ
โดยจากรายงานยังบ่งบอกว่าข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนกันยายนได้แสดงให้เห็นถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของ BoE ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังไม่สามารถผลักดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของ BoE กลับมากระชับอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังจากที่เดือนก่อนหน้า BoE ได้คงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มใช้นโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดในเดือนธันวาคม 2021 จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างไม่คาดคิดในเดือนสิงหาคมและข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลบ
ทางด้านเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลงตามคำกล่าวของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ ที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายที่อาจยังไม่เข้มงวดขึ้น โดยพาวเวลล์ยอมรับว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้ง โดยอ้างถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงานที่ตึงตัวที่อาจเป็นปัจจัย อย่างไรก็ตาม พาวเวลล์ตั้งข้อสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ขับเคลื่อนโดยตลาดเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ส่งผลให้เงื่อนไขทางการเงินโดยรวมเข้มงวดขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ แม้ว่าตลาดจะคาดหวังว่าเฟดจะรักษาอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน แต่ตลาดบางส่วนก็ยังคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยทางเศรษฐกิจเหล่านี้แล้ว ความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลยังคงมีอิทธิพลต่อความต้องการของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงอาจส่งผลให้เงินปอนด์มีแนวโน้มทรงตัวปรับตัวขึ้นลง ไปจนถึงอ่อนค่ากว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อยู่เล็กน้อย ในขณะที่แนวโน้มขาลงของเงินปอนด์อาจถูกจำกัดได้อยู่บ้าง เนื่องจากความต่างของผลตอบแทนที่ไม่ห่างกันมาก โดยดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มแข็งค่าได้มากขึ้น หากผลของการปะทะในแถบตะวันออกกลางและผลกระทบทั่วโลกมีความรุนแรงมากขึ้น
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5H) CFD GBP/USD
แนวต้านสำคัญ : 1.2148, 1.2153, 1.2161
แนวรับสำคัญ : 1.2134, 1.2129, 1.2121
5H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 1.2124 - 1.2134 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 1.2134 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.2148 และ SL ที่ประมาณ 1.2119 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 1.2148 - 1.2158 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.2165 และ SL ที่ประมาณ 1.2129 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 1.2148 - 1.2158 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้าน 1.2148 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.2128 และ SL ที่ประมาณ 1.2158 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 1.2124 - 1.2134 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.2113 และ SL ที่ประมาณ 1.2153 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Oct 20, 2023 10:33AM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 1.2109 | 1.2121 | 1.2128 | 1.2141 | 1.2148 | 1.2161 | 1.2168 |
Fibonacci | 1.2121 | 1.2129 | 1.2134 | 1.2141 | 1.2148 | 1.2153 | 1.2161 |
Camarilla | 1.2130 | 1.2132 | 1.2134 | 1.2141 | 1.2137 | 1.2139 | 1.2141 |
Woodie's | 1.2107 | 1.2120 | 1.2126 | 1.2140 | 1.2146 | 1.2160 | 1.2166 |
DeMark's | - | - | 1.2125 | 1.2139 | 1.2144 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2