ผู้ว่า BOJ ยืนหยัดใช้นโยบายผ่อนคลายพิเศษ
ในระหว่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน คาซูโอะ อูเอดะ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BoJ) ได้ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกลางในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยติดลบและการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน จนกว่าจะมีความมั่นใจมากขึ้นในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขึ้นราคาและการขึ้นค่าจ้างของบริษัทต่างๆ ที่จะเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ อูเอดะกล่าวว่าธนาคารกลางจำต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการออกจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ ทั้งยังส่งสัญญาณถึงเส้นทางเดินข้างหน้าและระยะห่างก่อนที่ BOJ จะสามารถละทิ้งการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนและนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบได้
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ อูเอดะตั้งข้อสังเกตว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมปัจจัยชั่วคราว ยังคงต่ำกว่า 2% เล็กน้อย และมีความไม่แน่นอนว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถเร่งขึ้นตามที่คาดไว้ได้หรือไม่ โดยชี้ให้เห็นถึงอัตราค่าจ้างที่จะต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของ BOJ ได้อย่างยั่งยืน
อูเอดะยังได้หารือเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับศักยภาพของการลงจอดอย่างนุ่มนวลหรือ Soft landing ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางของเศรษฐกิจจีน โดยเมื่อถามถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อนโยบายการเงิน อูเอดะกล่าวว่า BOJ จะวิเคราะห์ถึงผลกระทบของสกุลเงินต่ออัตราเงินเฟ้อและผลผลิต โดยจะดำเนินตอบโต้ตามความจำเป็น
ทั้งนี้ จากรายงานสรุปความคิดเห็นของธนาคารกลางญี่ปุ่นหลังการประชุมเดือนตุลาคม เผยให้เห็นถึงความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มค่าจ้าง ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเจรจาในการปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นในปีหน้า ซึ่งอาจใกล้เคียงกับเป้าหมายราคาของ BOJ ในขณะที่สมาชิกบางคนแนะนำให้ลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และใช้การปรับการควบคุมผลตอบแทนเป็นรากฐานสำหรับการปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นมาตรฐานในอนาคต
ในขณะเดียวกัน อัตราค่าจ้างที่แท้จริงที่ไม่รวมอัตราเงินเฟ้อลดลง 2.4% ในเดือนกันยายน หลังจากที่ลดลง 2.8% ในเดือนก่อน โดยแม้ว่าการเติบโตของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินในเดือนกันยายนจะดีขึ้นเล็กน้อยที่ 1.2% แต่พบว่าบริษัทใหญ่ ๆ ได้ตกลงปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ 3.58% และทำลายแนวโน้มการเติบโตของค่าจ้างที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ต้นปี 1990
อีกด้าน ในเดือนกันยายน ญี่ปุ่นรายงานการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากที่สุดในรอบ 18 เดือน โดยพบดุลการค้ากลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานที่สูงและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องอาศัยการนำเข้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบอย่างมาก โดยเงินเยนที่อ่อนค่าลงมีส่วนทำให้เกิดแรงกดดันด้านค่าครองชีพจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตและภาคบริการในญี่ปุ่นจะดีขึ้น แต่จากการสำรวจของ Reuters Tankan ยังคงชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ท้าทายท่ามกลางการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอน โดยผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงอุปสรรถที่เพิ่มมากขึ้นในไตรมาสหน้า ซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นของผู้ผลิตจะคงที่ ในขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคบริการคาดว่าจะลดลง จากการที่บริษัทหลายแห่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นและการถดถอยของตลาดหลักอย่าง จีน
นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน การใช้จ่ายของผู้บริโภคในญี่ปุ่นลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคในครัวเรือนที่เป็นไปได้ช้า โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งใหญ่เป็นอันดับสามของโลก จะหดตัวในไตรมาสที่สาม จากความผันผวนในการใช้จ่าย ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ราคาเมนูอาหารตามร้านอาหาร ค่าเดินทาง ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดหมู่ของใช้จำเป็นลดลงจากอิทธิพลของราคาที่สูงขึ้นส่วนหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน ค่าเงินญี่ปุ่นที่ยังคงอยู่ในระดับวิกฤต ซื้อขายใกล้ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี ส่งผลให้นักลงทุนตื่นตัวถึงการแทรกแซงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เจอโรม พาวเวลล์ แสดงความไม่มั่นใจในอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังได้รับอิทธิพลจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีที่ต่ำ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสูงขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนยังคงมุมมองแบบเข้มงวด ส่งผลให้ตลาดไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเงินดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความกังวลในการเติบโตในภูมิภาคอื่นๆ
โดยจากข้อมูลของ FedWatch Tool โดย CME Group ตลาดฟิวเจอร์สกองทุนเฟด (FFR) ส่งสัญญาณถึงความน่าจะเป็น 25% ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมภายในเดือนมกราคม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 19% ช่วงต้นสัปดาห์ แต่ลดลงจาก 28% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จึงอาจส่งผลให้แนวโน้มของคู่สกุล USD/JPY ยังขาดทิศทางที่แน่ชัดในช่วงนี้ โดยคาดว่าอาจพบการทรงตัวในกรอบบน บนความเสี่ยงที่เงินเยนอาจพลิกกลับแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยจากปัจจัยจากนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นและการเก็งกำไรของนักลงทุน ขณะที่ยังคงแนวโน้มอ่อนค่ากว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะกลาง
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5H) CFD USD/JPY
แนวต้านสำคัญ : 151.37, 151.40, 151.44
แนวรับสำคัญ : 151.27, 151.24 , 151.19
5H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 151.17 – 151.27 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 151.27 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 151.38 และ SL ที่ประมาณ 151.12 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 151.37 – 151.47 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 151.57 และ SL ที่ประมาณ 151.22 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 151.37 – 151.47 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 151.37 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 151.26 และ SL ที่ประมาณ 151.52 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 151.17 – 151.27 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 151.05 และ SL ที่ประมาณ 151.42 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Nov 10, 2023 10:16AM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 151.13 | 151.19 | 151.26 | 151.32 | 151.38 | 151.44 | 151.51 |
Fibonacci | 151.19 | 151.24 | 151.27 | 151.32 | 151.37 | 151.40 | 151.44 |
Camarilla | 151.29 | 151.30 | 151.31 | 151.32 | 151.34 | 151.35 | 151.36 |
Woodie's | 151.13 | 151.19 | 151.26 | 151.32 | 151.38 | 151.44 | 151.51 |
DeMark's | - | - | 151.29 | 151.34 | 151.42 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2