BoC ออกเตือนดอกเบี้ยที่อาจสูงขึ้น ท่ามกลางความท้าทายด้านที่อยู่อาศัย
ในเดือนตุลาคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจของแคนาดาเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย พร้อมด้วยดัชนีชี้วัดผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จาก Ivey ที่ปรับลดลง แตะจุดต่ำสุดในรอบหกเดือน ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศแคนาดา นำโดยผู้ว่าการทิฟ แม็กเลม แสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่สัมพันธ์กันระหว่างการใช้จ่ายของรัฐบาล และความพยายามของธนาคารกลางในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่ออัตราการจำนองและอัตราการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนภายในประเทศ
โดยแม็กเลมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปรับนโยบายการคลังและการเงินเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ทิศทางทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของรัฐบาล อยู่ภายใต้การพิจารณาอย่างละเอียดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความสามารถของชาวแคนาดาในการได้รับสินเชื่อจดจำนองในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป หลังจากที่กลยุทธ์เชิงรุกของ BoC ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งภายใน 19 เดือน ส่งผลให้การชำระเงินผ่อนส่งค่างวดจำนองบ้านโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 150% นับตั้งแต่ปี 2558
ทั้งนี้ จากการสำรวจ ความตึงเครียดทางการเงินต่อภาคครัวเรือนแคนาดาเห็นได้ชัดจากระดับที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ต้นทุนการก่อสร้างพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์แคนาดา กดดันตลาดที่อยู่อาศัย โดยจากการสำรวจอัตราสินเชื่อจำนอง เผยให้เห็นแนวโน้มของการผิดนัดชำระหนี้จำนองและการบังคับขายที่เพิ่มขึ้น สร้างความกังวลถึงการสูญเสียที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อาจเกิดขึ้น ท่ามกลางคำมั่นสัญญาในปี 2558 ในการปรับปรุงราคาที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพง ในขณะที่ในความเป็นจริง ค่าเช่า การชำระค่าจำนอง และเงินดาวน์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ประกอบกับการลดลงของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ไม่ดีนัก
ทางด้านรองผู้ว่าการอาวุโส แคโรลิน โรเจอร์ส แห่งธนาคารแห่งประเทศแคนาดา เตือนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก หนี้ภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเน้นย้ำถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อการใช้จ่ายและการใช้เครดิตของชาวแคนาดา โดยโรเจอร์ส ได้เตือนถึงการปรับเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายเสถียรภาพของระบบการเงิน
ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศแคนาดาประกาศถึงการสิ้นสุดยุคอัตราดอกเบี้ยแบบต่ำสุด และเตือนภาคธุรกิจและครัวเรือนให้เตรียมพร้อมสำหรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน ที่อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีที่ 5.0% ขณะที่ธนาคารคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะหยุดนิ่งจนถึงสิ้นปี 2567 และอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย 2% จนถึงปี 2568
อย่างไรก็ดี รัฐบาลแคนาดามีกำหนดการที่จะเผยแพร่แถลงการณ์เศรษฐกิจรายปีประจำฤดูใบไม้ร่วงในวันที่ 21 พ.ย. นี้ โดยคาดว่าจะกล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจ และการร่างมาตรการหรือนโยบายในการสร้างงาน สร้างที่อยู่อาศัย และปรับปรุงความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน
ในบริบทระหว่างประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐฯ นำโดยประธานเจอโรม พาวเวลล์ ประเมินความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่สหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงที่รัฐบาลกลางอาจถูกชัตดาวน์ หากสมาชิกสภานิติบัญญัติในวอชิงตันไม่อนุมัติมาตรการเงินทุนชั่วคราวก่อนวันศุกร์ที่จะถึงนี้
ทางด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ลดลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สร้างความท้าทายต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการจัดการการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อมุมมองของผู้บริโภคเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบปี จากการสำรวจเดือนพฤศจิกายนโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน
นอกจากนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคและยอดขายปลีกที่มีกำหนดเปิดเผย คาดว่าจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ตลาดจับตาดูข้อมูลราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมในวันอังคารนี้ เพื่อประเมินความคืบหน้าของเฟดในการลดอัตราเงินเฟ้อจากระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรายงานการจ้างงานเดือนตุลาคมที่บ่งชี้ถึงสภาวะตลาดแรงงานที่ผ่อนคลายลง อาจส่งผลให้เกิดการถกเถียงที่ร้อนแรงขึ้นเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลราคาผู้ผลิต และตัวเลขยอดขายปลีกในเดือนตุลาคม คาดว่าจะติดลบ ท่ามกลางมุมมองเพิ่มเติมจากรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรม โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก โดยทิศทางเงินดอลลาร์แคนาดา คาดว่าจะยังคงถูกกดดันเล็กน้อยในระยะนี้ ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นลงหรือทรงตัวภายในกรอบบนนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้วของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1H) CFD USD/CAD
แนวต้านสำคัญ : 1.3816, 1.3818, 1.3822
แนวรับสำคัญ : 1.3808, 1.3806, 1.3802
1H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 1.3798 - 1.3808 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 1.3808 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3818 และ SL ที่ประมาณ 1.3793 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 1.3816 - 1.3826 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3830 และ SL ที่ประมาณ 1.3803 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 1.3816 - 1.3826 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 1.3816 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3808 และ SL ที่ประมาณ 1.3831 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 1.3798 - 1.3808 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3792 และ SL ที่ประมาณ 1.3821 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Nov 13, 2023 10:00AM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 1.3798 | 1.3802 | 1.3808 | 1.3812 | 1.3818 | 1.3822 | 1.3828 |
Fibonacci | 1.3802 | 1.3806 | 1.3808 | 1.3812 | 1.3816 | 1.3818 | 1.3822 |
Camarilla | 1.3812 | 1.3813 | 1.3814 | 1.3812 | 1.3816 | 1.3817 | 1.3818 |
Woodie's | 1.3800 | 1.3803 | 1.3810 | 1.3813 | 1.3820 | 1.3823 | 1.3830 |
DeMark's | - | - | 1.3810 | 1.3813 | 1.3821 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2