ออสเตรเลียเผชิญความท้าทายด้านเงินเฟ้อ สหรัฐฯ เผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ในเดือนตุลาคม ออสเตรเลียประสบกับอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาด โดยได้รับอิทธิพลจากราคาสินค้าที่ลดลง โดยเฉพาะน้ำมัน ค่าเช่า และการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายเดือนเพิ่มขึ้นที่อัตรา 4.9% ต่อปี ชะลอตัวจาก 5.6% ในเดือนกันยายน และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเหลือ 5.3% และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.35% อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่าข้อมูลเงินเฟ้อรายเดือนอาจยังไม่สามารถสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาบริการได้ทั้งหมด
ทางด้านภาคธุรกิจการค้าปลีกในออสเตรเลียเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดคิดในเดือนตุลาคม โดยยอดขายที่ไม่รวมอาหาร ลดลง 0.2% ซึ่งเทศกาล Black Friday ในเดือนพฤศจิกายนอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ผ่านมา และส่งผลต่อการใช้จ่ายที่ลดลงในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายด้านการค้าปลีกโดยรวมยังคงใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่บันทึกไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2022 เนื่องมาจากเทศกาล Black Friday ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 4.35% ได้อ้างถึงอัตราเงินเฟ้อด้านบริการที่ยังคงหนืดอย่างต่อเนื่อง แม้จะพบการใช้จ่ายค้าปลีกที่ลดลงเล็กน้อยและตลาดแรงงานที่เย็นตัวลง โดย RBA ยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงและความจำเป็นในการใช้นโยบายเข้มงวดเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประจำปีที่ 2-3% ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเลข CPI ในเดือนตุลาคมจะลดลงจากจุดสูงสุดของช่วงต้นปี 2023 แต่ก็คงยังเกินเป้าหมายของ RBA และอาจนำไปสู่การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ทางด้านตลาดที่อยู่อาศัยของออสเตรเลียแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และสร้างคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่ผ่านมา ขณะที่มิเชล บูลล็อก ผู้ว่าการ RBA เน้นย้ำถึงผลกระทบของอุปสงค์ในประเทศต่ออัตราเงินเฟ้อ กระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญอย่างมากของการตอบสนองทางเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลีย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการอ่านค่า CPI ในตอนแรก แต่ก็ยังคงอยู่ใกล้ระดับสูงสุดในรอบสี่เดือน
อีกด้าน สหรัฐฯ ประสบปัญหาการชะลอตัวของตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีสัญญาณการชะลอตัวในเดือนตุลาคม โดยพบอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อปีน้อยที่สุดในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง ท่ามกลางค่าจ้างและต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น รวมถึงการออมที่ลดลงในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในต้นปี 2567 อาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนให้ความสำคัญกับการออมมากกว่าการใช้จ่ายได้
ทางด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยได้แรงหนุนจากความคาดหวังเชิงบวกสำหรับการซื้อสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์และบ้าน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคถึงสองในสามยังคงแสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่าแม้จะมีแนวโน้มยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ยังคงเปิดกว้างในการใช้ความเข้มงวดขึ้นอีก หากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อหยุดชะงัก
ในขณะเดียวกัน การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนของผู้บริโภคลดลงจาก 5.9% มาอยู่ที่ 5.7% ในเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าสะท้อนถึงความกังวลที่ลดลงเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อตามรายงานการชะลอตัว ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวในช่วงเดือนพฤศจิกายนสู่ระดับเดียวกันกับอัตราคาดการณ์ในปี 2554
นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานที่ค่อยๆ ผ่อนคลาย โดยพบชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปีในกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.9% สูงกว่าระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เล็กน้อย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่สาม แต่การคาดการณ์สำหรับไตรมาสที่สี่บ่งชี้ถึงการเติบโตที่ชะลอตัวลง ท่ามกลางมุมมองเชิงบวกของตลาดที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับบทสรุปของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยจากข้อมูลของ CME FedWatch Tool ฟิวเจอร์สอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แสดงความน่าจะเป็นที่ 47% ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2567 และเพิ่มขึ้นถึง 78% ในเดือนเมษายน ซึ่งโดยรวมแล้ว ตลาดคาดว่าจะพบการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย 100 จุดพื้นฐานภายในสิ้นปี 2567 ตามข้อมูลของ LSEG จึงอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าและปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยังคงแนวโน้มอ่อนค่ากว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะกลาง เนื่องจากผลตอบแทนของทั้งสองเศรษฐกิจที่ยังคงต่างกัน
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5H) CFD AUD/USD
แนวต้านสำคัญ : 0.6629, 0.6636, 0.6646
แนวรับสำคัญ : 0.6607, 0.6600, 0.6590
5H Outlook
ที่มา: Investing.com
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 0.6597 - 0.6607 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 0.6607 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 0.6636 และ SL ที่ประมาณ 0.6592 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 0.6629 - 0.6639 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 0.6660 และ SL ที่ประมาณ 0.6602 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 0.6629 - 0.6639 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 0.6629 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 0.6607 และ SL ที่ประมาณ 0.6644 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 0.6597 - 0.6607 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 0.6583 และ SL ที่ประมาณ 0.6634 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Dec 01, 2023 10:21AM GMT+7
Name | S3 | S2 | S1 | Pivot Points | R1 | R2 | R3 |
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 0.6579 | 0.6590 | 0.6607 | 0.6618 | 0.6636 | 0.6646 | 0.6664 |
Fibonacci | 0.6590 | 0.6600 | 0.6607 | 0.6618 | 0.6629 | 0.6636 | 0.6646 |
Camarilla | 0.6619 | 0.6621 | 0.6624 | 0.6618 | 0.6629 | 0.6632 | 0.6634 |
Woodie's | 0.6583 | 0.6592 | 0.6611 | 0.6620 | 0.6640 | 0.6648 | 0.6668 |
DeMark's | - | - | 0.6613 | 0.6621 | 0.6642 | - | - |
Sources: Investing 1, Investing 2