บทวิเคราะห์ EUR/USD วันที่ 19 สิงหาคม 2567

Create at 1 month ago (Aug 19, 2024 10:55)

ECB คาดลดอัตราดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ ท่ามกลางความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งในปีนี้ในเดือนกันยายนและธันวาคม ตามผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์กว่า 80% ของ Reuters ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยตั้งแต่เดือนเมษายน นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์อย่างต่อเนื่องว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดสามครั้งในปีนี้ และรวมหนึ่งครั้งที่ผ่านมาในเดือนมิถุนายน ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะมีการปรับลด 4 ครั้งภายในสิ้นปี โดยปัจจัยต่างๆ เช่น อัตราเงินเฟ้อของเขตยูโรที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดในเดือนกรกฎาคม อัตราการว่างงานที่ต่ำ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว เป็นเหตุผลที่ ECB ยังคงใช้แนวทางอย่างระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ECB จะลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีหน้า แตะระดับ 2.25% ภายในสิ้นปี 2025 ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนซึ่งคาดว่าจะเติบโต 0.3% ในไตรมาสที่แล้ว คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 0.7% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 1.3% ในปี 2025 และ 1.4% ในปี 2026

อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% ในเดือนกรกฎาคม จาก 2.5% ในเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.4% ในปีนี้ โดยจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 2% ของ ECB จนกว่าจะถึงครึ่งหลังของปี 2025 โดยแนวโน้มดังกล่าวค่อนข้างอยู่ในเชิงบวกมากกว่าการคาดการณ์ของ ECB ในเดือนมิถุนายนเล็กน้อย ท่ามกลางความกังวลถึงการคาดการณ์ของธนาคารกลางในเดือนกันยายนที่อาจแย่ลง

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบของ ECB พบว่าธนาคารชั้นนำบางแห่งในยูโรโซนอาจปั่นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และบดบังการเสื่อมถอยของสินเชื่อในภาคส่วนที่อาจกำลังประสบปัญหา โดยต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นและอุปสงค์ที่อ่อนแอทำให้ราคาทรัพย์สินลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ตรวจสอบของ ECB สังเกตเห็นปัญหาในวิธีที่ธนาคารดำเนินการประเมินมูลค่า โดยใช้ข้อมูลที่ล้าสมัยหรือคำจำกัดความมูลค่าตลาดที่ไม่เหมาะสมในบางครั้ง ส่งผลให้ธนาคารจำเป็นต้องประเมินมูลค่าโดยพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ใช่จากการคาดการณ์ตลาดในอนาคต

ทางด้านดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนเยอรมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นการลดลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงเหลือ 19.2 จุดจาก 41.8 จุดในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 32.0 จุด โดยนักวิเคราะห์มองถึงแนวโน้มเชิงลบดังกล่าวจากความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการเงินที่ไม่ชัดเจน ข้อมูลธุรกิจของสหรัฐฯ ที่น่าผิดหวัง และความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันของเยอรมนีย่ำแย่ลง โดยลดลงจาก -68.9 จุดเหลือ -77.3 จุด

นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลผสมของเยอรมนีได้ตกลงที่จะลดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปี 2025 จาก 17,000 ล้านยูโรเป็น 12,000 ล้านยูโร หลังจากกระบวนการเจรจาที่ยาวนาน และมีเป้าหมายที่จะรักษางบประมาณให้เป็นไปตามแผนก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้ โดยภายใต้ข้อตกลงนี้ Deutsche Bahn จะได้รับหุ้นมูลค่า 4,500 ล้านยูโรและเงินกู้มูลค่า 3,000 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่บุนเดสทาคจะเริ่มการอภิปรายงบประมาณในเดือนกันยายน โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน

ในฝรั่งเศส ธนาคารกลางคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างน้อย 0.35% ในไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ขณะที่การเติบโตพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ 0.1%-0.2% โดยมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติมอีก 0.25% จากกิจกรรมภาคบริการที่เพิ่มขึ้น ท่าทกลาง Visa ที่รายงานว่ายอดขายของธุรกิจขนาดเล็กในปารีสเพิ่มขึ้น 26% ในช่วงสุดสัปดาห์แรกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ทางด้านราคาผู้บริโภคของอิตาลีที่ปรับให้สอดคล้องกับสหภาพยุโรปลดลง 0.9% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนในเดือนกรกฎาคม แต่เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามข้อมูลของ ISTAT ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ 2.4% ในเดือนกรกฎาคม

อีกด้าน อัตราเงินเฟ้อของสเปนในรอบ 12 เดือนที่จัดทำโดยสหภาพยุโรปลดลงเหลือ 2.9% ในเดือนกรกฎาคมจาก 3.6% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเท่ากับประมาณการก่อนหน้านี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจาก 3% เหลือ 2.8%

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรและวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อคาดการณ์จุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางการลดลงของตัวเลขที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ที่ยังคงกดดันดอลลาร์ หลังจากที่ดอลลาร์เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง โดยในเดือนกรกฎาคม การสร้างบ้านเดี่ยวในสหรัฐฯ ลดลงเนื่องจากอัตราจำนองและราคาที่สูง บ่งชี้ถึงภาวะตกต่ำของตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ข้อมูลแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งเดือนและยอดขายปลีกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท้าทายความคาดหวังของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนหน้า โดยยอดขายปลีกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนกรกฎาคม พลิกกลับจากการลดลง 0.2% จากข้อมูลของเดือนมิถุนายนที่แก้ไขแล้ว ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดนี้อาจลดความกลัวของตลาดการเงินเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง และลดความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 50 จุด ซึ่งในทางกลับกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อาจมีแนวโน้มที่สูงกว่า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม

ทางด้านสินค้าคงคลังของธุรกิจในสหรัฐฯ เติบโตในระดับปานกลางในเดือนมิถุนายน ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม โดยราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าของผู้ผลิตเล็กน้อย

ทั้งนี้ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางในเดือนกรกฎาคม โดยอัตราเงินเฟ้อประจำปีลดลงต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3.5 ปี สนับสนุนความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงกว่าเป้าหมาย 2% การปรับลด 50 จุดจึงดูไม่น่าจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีการเสื่อมถอยของตลาดแรงงานเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นเป็น 67.8 จาก 66.4 ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ความเชื่อมั่นของพรรคเดโมแครตเพิ่มขึ้นหลังจากการถอนตัวของประธานาธิบดีไบเดนและการเสนอชื่อรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ท่ามกลางความเชื่อมั่นของพรรครีพับลิกันที่ลดลง

ปัจจุบัน ตลาดกำลังให้ความสนใจกับคำแถลงที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ของประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ในงานสัมมนาแจ็คสันโฮล ซึ่งคาดว่าจะสรุปเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะเน้นที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย 25 จุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรง โดยคำปราศรัยของพาวเวลล์และตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ จะให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของเฟด จึงคาดว่าจะส่งผลให้เงินยูโรอาจยังคงแนวโน้มปรับตัวขึ้นลงในกรอบกว้างๆ และยังคงอ่อนค่ากว่าเงินดอลลาร์ได้ในระยะกลางจากความแตกต่างของผลตอบแทนระหว่างทั้งสองเศรษฐกิจ

ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (5Min) CFD EUR/USD

แนวต้านสำคัญ : 1.1040, 1.1041, 1.1042

แนวรับสำคัญ :  1.1038, 1.1037, 1.1036                

5Min Outlook

วิเคราะห์ EUR/USD ที่มา: TradingView                                                      

Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 1.1036 - 1.1038 แต่ไม่สามารถทะลุแนวรับที่ 1.1038 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.1041 และ SL ที่ประมาณ 1.1035 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Buy/Long 2 หากสามารถทะลุแนวต้านที่ช่วงราคา 1.1040 - 1.1042 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.1044 และ SL ที่ประมาณ 1.1037 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้                 

Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 1.1040 - 1.1042 แต่ไม่สามารถทะลุแนวต้านที่ 1.1040 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.1037 และ SL ที่ประมาณ 1.1043 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Sell/Short 2 หากสามารถทะลุแนวรับที่ช่วงราคา 1.1036 - 1.1038 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.1034 และ SL ที่ประมาณ 1.1041 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Pivot Points Aug 19, 2024 10:43AM GMT+7

Name
S3
S2
S1
Pivot Points
R1
R2
R3
Classic 1.1034 1.1036 1.1037 1.1039 1.1041 1.1042 1.1044
Fibonacci 1.1036 1.1037 1.1038 1.1039 1.104 1.1041 1.1042
Camarilla 1.1039 1.1039 1.1039 1.1039 1.104 1.104 1.104
Woodie's 1.1034 1.1036 1.1037 1.1039 1.1041 1.1042 1.1044
DeMark's - - 1.1038 1.1039 1.1042 - -

ที่มา: Investing 1Investing 2

______________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: คลิกที่นี่
รู้เท่าทันสถานการณ์โลกและบทวิเคราะห์เทคนิคขั้นสูงคลิกที่นี่
Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES