เงินปอนด์แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ท่ามกลางความเชื่อมั่นของ BoE และสัญญาณผ่อนคลายของเฟด
ค่าเงินปอนด์พุ่งแตะระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบกว่า 2 ปีในวันศุกร์ โดยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณเศรษฐกิจเชิงบวกจากสหราชอาณาจักรและคำกล่าวในเชิงผ่อนคลายของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทั่วโลก และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น 0.94% แตะที่ 1.3211 ดอลลาร์ในช่วงบ่าย ก่อนที่จะแตะ 1.32295 ดอลลาร์ในช่วงสั้นๆ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2022 และแซงจุดสูงสุดในปี 2023 ที่ 1.3144 ดอลลาร์
โดยการพุ่งขึ้นของค่าเงินปอนด์นี้ยังได้รับการสนับสนุนจากการสำรวจที่ระบุว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอังกฤษยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปีในเดือนสิงหาคม ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในแง่ดีเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าสำคัญๆ โดยอารมณ์เชิงบวกดังกล่าวมาจากแนวโน้มของข้อมูลเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ และนำไปสู่การคาดเดาว่าธนาคารแห่งอังกฤษ (BoE) อาจไม่จำเป็นต้องรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตรงกันข้ามกับที่คาดไว้สำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ
ทั้งนี้ BoE ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยธนาคารลงเหลือ 5.00% จากระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ 5.25% ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล โดยแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการ BoE มีกำหนดการกล่าวถึงปัญหาดังกล่าวในงานแถลงครั้งต่อไป ซึ่งจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
ทางด้านกิจกรรมทางธุรกิจของสหราชอาณาจักรยังแสดงสัญญาณของการเร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ S&P Global Composite เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอาจยังคงเติบโตต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปีก็ตาม
โดยเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโต 0.6% ในไตรมาสที่สองของปี 2024 หลังจากขยายตัว 0.7% ในไตรมาสแรก ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบกว่าสองปี อย่างไรก็ตาม การเติบโตได้ชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายน โดยผลผลิตรายเดือนคงที่ จากปัจจัยต่างๆ เช่น ฝนตกหนักและการนัดหยุดงานของแพทย์
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก อาจมีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในเดือนมิถุนายน โดยนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะมีผลงานที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปี แต่การเติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยรายได้และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
โดยแม้ว่าจะเริ่มต้นได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ธนาคารแห่งอังกฤษยังคงคาดการณ์การเติบโตในช่วงที่เหลือของปี 2024 อย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าการเติบโตจะช้าลงในไตรมาสที่สามและสี่ ขณะที่ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของอังกฤษอยู่ในระดับปานกลางนับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 โดยผลผลิตต่อหัวยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดเนื่องจากการเติบโตที่อ่อนแอและประชากรที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีตัวบ่งชี้เชิงบวกดังกล่าว เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังคงเผชิญกับความท้าทาย จากผลผลิตภาคการผลิตที่ซบเซา และอัตราเงินเฟ้อที่แม้จะต่ำกว่าในเดือนก่อนๆ แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งอังกฤษ
โดยอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 2.2% ต่ำกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ขณะที่ธนาคารแห่งอังกฤษคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นอีกก่อนที่จะกลับสู่เป้าหมายในปี 2026 และแม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่ BoE ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการเติบโตของค่าจ้างและตลาดแรงงาน ซึ่งการเติบโตของค่าจ้างได้ชะลอตัว และอัตราการว่างงานได้ลดลงอย่างไม่คาดคิด อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างภาคเอกชนยังคงเติบโตในอัตราที่อาจทำให้ความพยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ของ BoE มีความซับซ้อนมากขึ้น
ทางด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินปอนด์อังกฤษ โดยเข้าใกล้ระดับล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2022 โดยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังได้รับอิทธิพลจากสัญญาณที่ชัดเจนของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เกี่ยวกับแนวโน้มที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า
โดยในการกล่าวสุนทรพจน์สำคัญที่การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ แคนซัสซิตี้ ในเมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมที่จะเปลี่ยนนโยบายการเงินไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากภูมิทัศน์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพาวเวลล์กล่าวว่า "ถึงเวลาที่นโยบายจะต้องมีการปรับเปลี่ยน" โดยเน้นย้ำถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ลดลงและความเสี่ยงด้านการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าว
ทั้งนี้ พาวเวลล์เน้นย้ำว่าแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะแสดงสัญญาณว่า "อยู่บนเส้นทางที่เริ่มชะลอตัวสู่ 2%" แต่เฟดยังคงความระมัดระวังในการปล่อยให้ตลาดแรงงานอ่อนแอลงมากกว่านี้ โดยย้ำถึงความสำคัญของการรักษาตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งในขณะที่เฟดยังคงพยายามรักษาเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งพาวเวลล์ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าเฟดไม่ได้ต้องการที่จะให้ภาวะตลาดแรงงานเย็นลงไปมากกว่านี้
โดยระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ พาวเวลล์กล่าวว่าการดำเนินการในอนาคตของเฟด ซึ่งรวมถึงจังหวะเวลาและขนาดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและความสมดุลของความเสี่ยง
หลังจากคำกล่าวของพาวเวลล์ ความคาดหวังของตลาดต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดวันที่ 17-18 กันยายนก็ได้เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 65% ที่จะมีการปรับลด 0.25% จุด ขณะที่บางคนคาดเดาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการปรับลดครั้งใหญ่ที่ 50 จุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เช่น รายงานการจ้างงานในเดือนสิงหาคม แสดงให้เห็นสัญญาณเพิ่มเติมของความอ่อนแอของตลาดแรงงาน ท่ามกลางคำกล่าวของพาวเวลล์ที่ยังระบุว่าขณะนี้เฟดมี "พื้นที่เพียงพอ" ในการลดต้นทุนการกู้ยืมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อลดลง
นอกจากนี้ คำกล่าวดังกล่าวยังได้ส่งผลต่อการคาดการณ์ในวที่งกว้างขึ้น โดยตลาดปรับคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจลดลงเหลือ 3.00%-3.25% ภายในสิ้นปี 2025 ซึ่งต่ำกว่าระดับปัจจุบันมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน ยอดขายบ้านเดี่ยวใหม่ในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี จากอัตราจำนองที่ลดลงซึ่งกระตุ้นอุปสงค์ สำนักสำมะโนประชากรของกระทรวงพาณิชย์รายงานว่ายอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 10.6% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 และเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2022
ทั้งนี้ ในข่าวเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด จึงอาจส่งผลให้คู่สกุล GBP/USD คาดว่าจะมีแนวโน้มซื้อขายขึ้นลงในกรอบปัจจุบันและกรอบบนได้อีกเล็กน้อยในช่วงนี้
ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1H) CFD GBP/USD
แนวต้านสำคัญ : 1.3212, 1.3214, 1.3217
แนวรับสำคัญ : 1.3206, 1.3204, 1.3201
1H Outlook
ที่มา: TradingView
Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 1.3191 - 1.3206 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 1.3206 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3212 และ SL ที่ประมาณ 1.3184 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 1.3212 - 1.3227 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3230 และ SL ที่ประมาณ 1.3199 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 1.3212 - 1.3227 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้าน 1.3212 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3203 และ SL ที่ประมาณ 1.3234 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 1.3191 - 1.3206 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 1.3176 และ SL ที่ประมาณ 1.3219 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้
Pivot Points Aug 26, 2024 10:12AM GMT+7
Name
|
S3
|
S2
|
S1
|
Pivot Points
|
R1
|
R2
|
R3
|
---|---|---|---|---|---|---|---|
Classic | 1.3195 | 1.3201 | 1.3203 | 1.3209 | 1.3212 | 1.3217 | 1.322 |
Fibonacci | 1.3201 | 1.3204 | 1.3206 | 1.3209 | 1.3212 | 1.3214 | 1.3217 |
Camarilla | 1.3205 | 1.3205 | 1.3206 | 1.3209 | 1.3208 | 1.3209 | 1.3209 |
Woodie's | 1.3195 | 1.3201 | 1.3203 | 1.3209 | 1.3212 | 1.3217 | 1.322 |
DeMark's | - | - | 1.3203 | 1.3209 | 1.3211 | - | - |
ที่มา: Investing 1, Investing 2
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: คลิ