ดาวโจนส์ปรับตัวแคบก่อน ไบเดนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดาวโจนส์ปรับตัวแคบก่อน ไบเดนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
Create at 4 years ago (Jan 14, 2021 12:53)

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพุธที่ 13ม.ค. ปรับตัวลงในกรอบแคบก่อนที่นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 8.22 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 31,060.47 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 3,809.84 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 56.52 จุด หรือ 0.43% ปิดที่ 13,128.95 จุด

คาดว่านายไบเดนจะขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว หลังจากที่เขาเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค. ขณะที่พรรคเดโมแครตสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเอื้อต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังจากที่ถูกขัดขวางก่อนหน้านี้จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นไม่มากนัก เพราะถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.174% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2563 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.904% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เช่นกัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกต่อการที่หุ้นเริ่มมีราคาแพง โดยขณะนี้ ค่า Forward P/E Ratio ของดัชนี S&P 500 อยู่ที่ 22.7 เท่า ซึ่งใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้ ค่า Forward P/E Ratio ที่พุ่งขึ้นจะเป็นการส่งสัญญาณถึงการทรุดตัวลงของตลาดในระยะต่อไป โดยขณะนี้ราคาหุ้นมีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และหากพิจารณาตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์และดัชนีเอสแอนด์พี500 พุ่งขึ้นเกือบ 70% แล้ว ขณะที่ดัชนีแนสแด็ดทะยานขึ้นกว่า 80%

อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีได้พุ่งขึ้นทะลุ 1% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่พรรคเดโมแครตสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในรัฐจอร์เจีย ทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐถือเป็นพันธบัตรอ้างอิงสำหรับตราสารหนี้ทั่วโลก การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ทั่วโลกปรับตัวขึ้นเช่นกัน ทำให้บริษัทต่างๆต้องใช้เงินในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อสถานะทางการเงิน และราคาหุ้นของบริษัท นอกจากนี้ การที่เฟดจะเริ่มชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) จะทำให้เฟดลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรงดังที่เห็นได้จากในปี 2556

Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES