บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันที่ 8 เมษายน 2568

Create at 1 week ago (Apr 08, 2025 11:03)

S&P 500 เข้าสู่ภาวะตลาดหมีจากความกังวลภาษี เขย่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ตลาดเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยความวิตก หลังการขายอย่างหนักจากแรงกดดันของมาตรการภาษีที่ผลักดันดัชนี S&P 500 เข้าสู่ภาวะตลาดหมี โดยดัชนีร่วงลงถึง 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 และลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ดัชนี Dow Jones และ Nasdaq ต่างปรับตัวลดลงตาม โดย Nasdaq ได้เข้าสู่ตลาดหมีเช่นกัน ขณะที่การซื้อขายในวันจันทร์มีความผันผวนสูง โดยดัชนีเปิดตลาดในแดนลบอย่างรุนแรง จากนั้นดีดตัวขึ้นเล็กน้อยจากข่าวลือเรื่องการระงับภาษี 90 วัน ก่อนกลับมาร่วงอีกครั้งหลังทำเนียบขาวออกมาปฏิเสธว่าเป็น “ข่าวปลอม”

ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนทรุดตัว หลังจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ และประธานาธิบดีทรัมป์ยกระดับจุดยืนเชิงรุกด้วยการขู่ขึ้นภาษีเพิ่มเติมหากข้อเรียกร้องไม่ถูกตอบสนอง โดยมีการเตรียมบังคับใช้รอบใหม่ในวันที่ 9 เมษายน ทำให้ความกังวลเรื่องภาวะถดถอยทวีความรุนแรงขึ้น

ดัชนีความผันผวน CBOE (VIX) พุ่งทะลุระดับ 60 ระหว่างวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2024 สะท้อนถึงความตื่นตระหนกในตลาด Goldman Sachs ปรับเพิ่มโอกาสเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐฯ ปี 2025 เป็น 45% ขณะที่ JPMorgan คาดว่าความเสี่ยงการถดถอยทั่วโลกอยู่ที่ 60% ทั้งสองสถาบันเตือนว่ามาตรการภาษีของทรัมป์เปรียบเสมือนการขึ้นภาษี GDP 2.4% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1968 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยของเฟดสูงสุดถึง 5 ครั้งในปีนี้

ด้านผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีความผันผวนและหลากหลาย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง 2.4% ซึ่งเป็นกลุ่มที่แย่ที่สุดในวันจันทร์ ขณะที่กลุ่มบริการสื่อสารบวกขึ้น 1% ท่ามกลางหุ้นเทคโนโลยีที่เป็นจุดโฟกัสสำคัญ โดย Apple ร่วง 3.7% และลดลงเกือบ 30% ตั้งแต่ต้นปีจากความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกับจีน Tesla ลดลง 2.6% หลังถูกนักวิเคราะห์หั่นเป้าหมายราคา โดย Wedbush ปรับลดราคาเป้าหมายลงจาก 550 ดอลลาร์เป็น 315 ดอลลาร์ ด้าน Nvidia พุ่งขึ้น 3.5% Amazon เพิ่มขึ้น 2.5% และ Broadcom กระโดดขึ้น 5.4% กลายเป็นแสงสว่างที่หายากของกลุ่มเทค

ทั้งนี้ Wedbush ปรับลดราคาเป้าหมายของ Apple เหลือ $250 โดยเตือนถึงความเปราะบางจากการที่ 90% ของ iPhone ถูกประกอบในจีน ขณะที่ภาษีนำเข้าจากจีนอยู่ที่ 54% และจากไต้หวัน 32% ท่ามกลางการย้ายฐานการผลิตเพียง 10% ไปยังสหรัฐฯ อาจใช้เวลาหลายปีและมีต้นทุนสูงถึง $30,000 ล้าน

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังยกระดับความตึงเครียดผ่าน Truth Social โดยขู่เก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 50% ต่อสินค้าจีน หากจีนไม่ยกเลิกมาตรการตอบโต้ภายในวันที่ 8 เมษายน พร้อมกล่าวว่านักลงทุนต้อง “กินยาขมนี้ให้ได้” และยืนกรานไม่เลื่อนการใช้ภาษี แม้ตลาดจะผันผวนหนัก ด้านรัฐมนตรีคลัง Scott Bessent ส่งสัญญาณว่าอาจมีช่องให้เจรจา โดยเผยว่ามีมากกว่า 50 ประเทศที่ร้องขอเจรจากับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี JPMorgan ปรับลดเป้าหมายดัชนี S&P 500 สิ้นปีเหลือ 5,200 พร้อมตั้งสมมติฐานขาลงที่ 4,000 โดยคาดว่า GDP สหรัฐฯ จะหดตัว 0.3% ในปี 2025 และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น บริษัทเตือนว่าอัตราภาษีเฉลี่ยอาจพุ่งจาก 3% เป็น 19% ซึ่งจะบีบกำไรของบริษัทอย่างรุนแรง ขณะที่ Deutsche Bank เปรียบเทียบความปั่นป่วนครั้งนี้กับการล่มสลายของระบบ Bretton Woods และเตือนว่าอาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก

อีกด้าน ทรัมป์ได้ขยายเส้นตายให้ ByteDance ขายกิจการ TikTok ในสหรัฐฯ ออกไปอีก 75 วัน โดยผูกดีลนี้เข้ากับการเจรจาการค้ากับจีน ขณะที่บริษัทที่แสดงความสนใจซื้อกิจการได้แก่ Amazon, Oracle และ Applovin

ปัจจุบัน นักลงทุนกำลังจับตาข้อมูลเงินเฟ้อและถ้อยแถลงของเฟดอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแนวโน้มของนโยบายการเงิน โดยรายงาน CPI ในวันพฤหัสบดีนี้ถือว่ามีความสำคัญสูง ซึ่ง Barclays คาดว่าตัวเลขในเดือนมีนาคมจะไม่รุนแรง แต่เตือนว่าอัตราเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี จากผลกระทบของมาตรการภาษีในวันที่ 2 เมษายน ซึ่งเริ่มส่งแรงสั่นสะเทือนผ่านห่วงโซ่อุปทาน โดยเฟดอาจต้องเผชิญความซับซ้อนในการลดดอกเบี้ย หากแรงกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจชะลอตัวปรากฏพร้อมกัน

ทั้งนี้ ฤดูกาลประกาศผลประกอบการจะเริ่มในสัปดาห์นี้ โดยมีบริษัทการเงินใหญ่หลายแห่งรายงานผล ได้แก่ JPMorgan, Morgan Stanley, Wells Fargo และ BlackRock รวมถึงบริษัทค้าปลีกอย่าง Levi Strauss และ Walgreens ตลอดจนสายการบิน Delta อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า แม้ผลประกอบการจะออกมาดี ก็อาจไม่เพียงพอชดเชยความไม่แน่นอนด้านการค้าระหว่างประเทศที่กำลังปกคลุมตลาดอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้สำหรับดัชนี US500 ในขณะนี้มีตั้งแต่ระดับแย่ที่สุดที่ 4,000 จุด หากไม่มีการผ่อนปรนภาษีนำเข้าและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ ระดับพื้นฐานที่ 5,200 จุด หากมีการผ่อนปรนบางส่วนและสามารถควบคุมความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้ ไปจนถึงระดับดีที่สุดที่ 5,800 จุด หากการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญและเฟดสัญญาณใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม แรงกดดันขาลงยังคงรุนแรงจากการที่ทรัมป์ขู่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นตามต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูง แม้ฤดูกาลประกาศผลประกอบการอาจช่วยพยุงตลาดในระยะสั้น แต่หากแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคยังไม่คลี่คลาย ตลาดก็อาจยังคงผันผวน โดยระดับ 4,000 จุดอาจเกิดขึ้นได้ หากการเจรจาก่อนวันที่ 9 เมษายนล้มเหลวหรือหยุดชะงัก

ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเทคนิค (1D) CFD US 500 [S&P 500]

แนวต้านสำคัญ : 5226.3, 5330.5, 5499.1

แนวรับสำคัญ : 4889.1, 4784.9, 4616.3                 

1D Outlook

วิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มา: TradingView    

Buy/Long 1 หากมีการแตะแนวรับที่ช่วงราคา 4809.1 - 4889.1 แต่ไม่สามารถเบรกแนวรับที่ 4889.1 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 5307.0 และ SL ที่ประมาณ 4769.1 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Buy/Long 2 หากสามารถเบรกแนวต้านที่ช่วงราคา 5226.3 - 5306.3 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 5748.4 และ SL ที่ประมาณ 4849.1 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้                 

Sell/Short 1 หากมีการแตะแนวต้านที่ช่วงราคา 5226.3 - 5306.3 แต่ไม่สามารถเบรกแนวต้านที่ 5226.3 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 4865.6 และ SL ที่ประมาณ 5346.3 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Sell/Short 2 หากสามารถเบรกแนวรับที่ช่วงราคา 4809.1 - 4889.1 ได้ อาจตั้ง TP ที่ประมาณ 4424.2 และ SL ที่ประมาณ 5266.3 หรือตามความเสี่ยงที่รับได้

Pivot Points Apr 8, 2025 10:34AM GMT+7

Name
S3
S2
S1
Pivot Points
R1
R2
R3
Classic 4424.2 4616.3 4865.6 5057.7 5307 5499.1 5748.4
Fibonacci 4616.3 4784.9 4889.1 5057.7 5226.3 5330.5 5499.1
Camarilla 4993.6 5034.1 5074.5 5057.7 5155.5 5195.9 5236.4
Woodie's 4452.8 4630.6 4894.2 5072 5335.6 5513.4 5777
DeMark's - - 4961.7 5105.8 5403.1 - -

ที่มา: Investing 1Investing 2

______________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: คลิกที่นี่
รู้เท่าทันสถานการณ์โลกและบทวิเคราะห์เทคนิคขั้นสูง: คลิกที่นี่
Tags:

TECHNICAL ANALYSIS

ARTICLES