เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยในเดือนม.ค.นี้ นอกจากสหรัฐจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่แล้วนั้น ยังได้รัฐสภาเสียงมากกลุ่มใหม่จากการเลือกตั้ง Georgia Run-Offs อีกเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐจึงเข้าสู่ Blue Wave อย่างเต็มตัว โดยมีประธานาธิบดีไบเดนนำ White House และมีพรรคเดโมแครตเป็นเสียงส่วนมากของทั้งวุฒิสภา (House of Senates) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) โดยการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่ามีนัยสำคัญต่อ sentiment ตลาดด้านบวก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรม Clean Energy (พลังงานสะอาด) และ Health Care (การแพทย์) และยังมีผลดีต่อมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมอีกด้วย
สำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองสหรัฐอย่างใกล้ชิด จะคุ้นเคยกับนโยบายของไบเดน-แฮริส ที่เน้นสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดกันอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การได้รับเลือกตั้งของไบเดนจะเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมนี้ ซึ่งการผลักดันนโยบายนี้เริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อหนึ่งในคำสั่งแรกของประธานาธิบดีไบเดน นั้นคือการกลับไปเข้าร่วม Paris Agreement ซึ่งคือข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วโลกเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และอุณหภูมิที่พุ่งขึ้นสูงของโลกอีกครั้ง อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดซึ่งเป็นตัวผลักดันการสร้างพลังงานโดยลดมลภาวะจึงเป็นอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลบวกจากนโยบายด้าน climate change โดยตรง
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลไบเดน คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ (Health Care) ซึ่งภายในไม่กี่วันหลังจากที่ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ ทาง White House ได้ออกคำสั่ง (Executive Orders) ออกมา 10 ฉบับ โดยส่วนมากให้ความสำคัญเกี่ยวกับการหยุดการแพร่ระบาด และการให้ความสนับสนุนงานวิจัยการรักษาโรค COVID-19 การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน การจัดตั้งศูนย์ Testing และการใช้ Defense Production Act เพื่อสนับสนุนอุปสงค์ของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นต่อการควบคุมโรคระบาด เช่นการผลิตหน้ากาก รวมไปถึงการผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ Testing ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกโดยตรงมากที่สุดจึงเป็นกลุ่ม Medical Devices และ Biotech ในอุตสาหกรรม Health Care
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดนยังประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “American Rescue Plan” ชุดใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งในรายละเอียดจะครอบคลุมตั้งแต่การยืดระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน การช่วยเหลือประชาชนเรื่องหนี้สินค่าเช่าบ้านและการเลื่อนการชำระหนี้ รวมไปถึงการออกงบช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก เพิ่มจากโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) จากการกระตุ้นในปีที่แล้ว รวมถึงประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย โดย sentiment ตลาดโดยรวมมองว่า การกระตุ้นในครั้งนี้หากออกมาได้ภายในเวลาที่ทันการณ์ จะสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ได้