จีน - รัสเซีย เข้าขวางยูเอ็น ออกแถลงประณามกองทัพเมียนมา ก่อรัฐประหาร ชี้ยูเอ็นเอสซี ต้องช่วยเสถียรภาพการเมืองสังคมในเมียนมา และหลีกเลี่ยงสร้างความตรึงเครียดเพิ่ม ทางด้านนางคริสติน ชแรนเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษว่าด้วยเรื่องเมียนมาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้บรรยายสรุปต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (ยูเอ็นเอสซี) หลังจากกองทัพเมียนมาทำการรัฐประหาร พร้อมกับจับกุมตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติ (เอ็นแอลดี) อ้างโกงเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.63 โดยได้ส่งมอบอำนาจให้กับพล.อ.อู่ มิน หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) และหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมาเมื่อวันจันทร์ (1 ก.พ.) ทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
“ตนขอประณามต่อการกระทำของกองทัพเมียนมา และขอให้ทุกประเทศส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา” ชแรนเนอร์ บูร์เกเนอร์กล่าวต่อที่ประชุม และระบุว่า เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ผลการเลือกตั้งล่าสุดพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ขณะที่ข้อเสนอจากกองทัพเมียนมาให้จัดการเลือกตั้งใหม่เป็นสิ่งน่าหมดหวัง
ด้านนักการทูตประจำยูเอ็นรายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้ยูเอ็นเอสซีกำลังเจรจากันเพื่อออกแถลงการณ์ต่อเรื่องดังกล่าว โดยมีสหราชอาณาจักรเป็นผู้ยกร่าง ก็เพื่อจะประณามกองทัพเมียนมาทำรัฐประหาร และเรียกร้องให้กองทัพเคารพหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายทันที ซึ่งข้อความในแถลงการณ์ดังกล่าวต้องได้รับการเห็นพ้องร่วมกัน
ด้านจีน ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซีย ได้ออกมาปกป้องเมียนมาในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯครั้งนี้ รวมถึงแต่ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ทหารเข้าปราบปรามในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 การผลักดันมุสลิมชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคนไปยังบังกลาเทศ และการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมียนมา ทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวหลังการประชุมว่า รู้สึกตกใจที่ผู้สื่อข่าวได้เห็นร่างแถลงการณ์แล้ว ซึ่งจะทำให้การมีฉันทามติร่วมกันยากยิ่งขึ้น
จีนมีความเห็นว่า การดำเนินการใดๆของที่ประชุมยูเอ็นเอสซีต้องมีส่วนช่วยให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง และสังคมในเมียนมา ตลอดจนสันติสุขและความปรองดอง โดยต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความตึงเครียด และทวีความรุนแรงขึ้น จะทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น” นักการทูตกล่าว อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นยังแสดงความกังวลว่า เหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันจันทร์จะส่งผลต่อสวัสดิภาพชาวโรงฮิงญาในเมียนมาแย่ลง ในเวลานี้ต้องประกันความคุ้มครองประชาชนเมียนมา และสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา โดยเราต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ความรุนแรงลุกลามออกไป