นายหยางระบุว่า ธนาคารกลางไต้หวันได้ทุ่มซื้อสุทธิสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมูลค่า 3.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับ 5.8% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีดังกล่าว และสูงกว่าเพดาน 2% ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ ขณะที่ในปี 2562 ธนาคารกลางไต้หวันเข้าซื้อสุทธิสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเข้าเกณฑ์ที่รัฐบาลสหรัฐกำหนดว่าเป็นการปั่นค่าเงิน อย่างไรก็ดี นายหยางกล่าวว่า หากสหรัฐตัดสินใจประกาศเช่นนั้นจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นสถานการณ์ร้ายแรงจนเกินไป และคาดว่าจะไม่สร้างความเสียหายในทันทีต่อไต้หวัน พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ไต้หวันต้องเข้าแทรกแซงตลาดในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วก็เพราะต้องการจะสกัดการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ไต้หวัน หลังจากสกุลเงินแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้ามีการขยายตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ นายหยางกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ไต้หวันจะต้องรีบสื่อสารกับสหรัฐเพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้สกุลเงินไต้หวันแข็งค่า ซึ่งรวมถึงสาเหตุที่มาจากการที่สหรัฐใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไต้หวัน และทำให้ไต้หวันมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้นด้วย