จุดกำเนิด FED ถุงเงินสำรองสหรัฐฯ

จุดกำเนิด FED ถุงเงินสำรองสหรัฐฯ
Create at 2 years ago (Oct 12, 2022 16:36)

นโยบายของ Fed ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อธนาคารกลางทั่วโลก แต่ยังส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? วันนี้ทีมงาน Fxtoday จะพาทุกท่านย้อนไปดูจุดเริ่มต้นของ Fed ในฐานะ “ถุงเงินสำรองสหรัฐฯ” ก่อนจะขยับขึ้นมามีอิทธิพลต่อโลกของเรากันครับ

อันดับแรก มาทบทวนกันก่อนครับ เราเคยแนะนำไปแล้วว่า Fed คืออะไร? และมีบทบาทสำคัญอย่างไร รวมถึงเครื่องมือในการกำหนดนโยบายการเงินของ Fed เป็นอย่างไร แต่ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปดูจุดกำเนิดที่แท้จริงของ Fed กันครับ

 

จุดกำเนิด FED ถุงเงินสำรองสหรัฐฯ

จุดเริ่มต้นของ FED ก่อนเป็นผู้ชี้ชะตาโลก

Federal Reserve หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “Fed” คือ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ แต่หากแปลกันตามตรงแล้ว มันก็คือ “ถุงเงินสำรองของรัฐบาลกลาง” ในขณะนั้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแนวคิด “เงินกองกลางเพื่อการเดินเรือ” ที่ทำให้เกิดธนาคารกลางแห่งแรกของโลกอย่าง Bank of Amsterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 1609 สถาบันที่จัดการสกุลเงินและนโยบายการเงินของรัฐอย่างเป็นทางการ

แม้ว่าแนวคิดนี้จะได้รับความสนใจ จนทำให้เกิดความพยายามในการก่อตั้งธนาคารกลาง 2 ครั้ง ในอเมริกา แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งปี 1906 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ มันสร้างความเสียหายอย่างมากมาย จนบริษัทประกันภัยไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้

บริษัทประกันภัยสัญชาติอังกฤษที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก จึงดึงเอาสภาพคล่องของตนออกจากสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถนำเงินมาจ่ายค่าสินไหมได้ อเมริกาจึงประสบกับวิกฤติขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนทำให้ตลาดหุ้น Wall Street ปรับตัวลงกว่า 50% ประกอบกับประชาชนเกิดความตระหนกแล้วแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร (Bank Run) ทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งขาดเสถียรภาพ

Nelson Aldrich วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้ร่วมหารือกับคนมากมายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งคำตอบก็คือ การก่อตั้งธนาคารกลางของสหรัฐฯ โดยมีผู้ร่วมทุนคนแรกอย่าง John Pierpont Morgan ผู้ก่อตั้ง JP Morgan ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จากนั้น นายธนาคารอื่น ๆ ก็ร่วมทุนในครั้งนี้ จนเกิดเป็นร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้ง Federal Reserve ปี 1907 มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเงินสำรองในการกู้ภัยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในปี 1913

ประธาน FED ผู้กุมอำนาจ กำหนดเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ประธาน FED ผู้กุมอำนาจ กำหนดเศรษฐกิจสหรัฐฯ

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ Fed ได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก จากประสบการณ์ที่ถูกสั่งสมและขัดเกลา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ The Wall Street Crash ปี 1929 หรือ Black Monday ปี 1987 รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ด้วยเช่นกันที่ Fed ได้เข้าไปมีอำนาจในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น ประธาน Fed จึงถือเป็นบุคคลสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะไม่ใช่เพียงการนั่งเก้าอี้ประจำตำแหน่ง แต่ยังเป็นผู้กุมบังเหียนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนถัดไป จะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน

อย่างไรก็ดี แม้ประธาน Fed จะถูกคัดเลือกโดยประธานาธิบดี แต่การดำเนินงานก็เป็นอิสระจากการเมือง ไม่ได้เป็นเจ้าของโดยใคร หรือองค์กรใด ๆ ตำแหน่งประธาน Fed จึงเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสหรัฐฯ 

ประธาน Fed ที่ทรงอิทธิพล เช่น Alan Greenspan (1987 - 2006) ผู้ดำรงตำแหน่งนานถึง 5 สมัย และ Daniel R. Crissinger (1923 - 1927) ผู้ทำผลตอบแทนรายปีที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อได้สูงที่สุด ส่วนปัจจุบัน ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน Fed คือ Jerome H. Powell (2014 - ปัจจุบัน) ที่มีภารกิจสำคัญ คือ การปราบเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

 

โครงสร้าง FED เชื่อมโยงอำนาจสู่ศูนย์กลาง

โครงสร้าง FED เชื่อมโยงอำนาจสู่ศูนย์กลาง

Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภา ประกอบไปด้วย 3 หน่วยงานหลัก ดังนี้ 

1) Federal Reserve Banks ธนาคารระดับภูมิภาคของระบบ Fed ซึ่งครอบคลุม 12 เขต และมีอำนาจปกครองในแต่ละมลรัฐของสหรัฐฯ

2) Board of Governors คณะกรรมการผู้ว่าการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนกลางที่คอยกำกับดูแลระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ 

3) Federal Open Market Committee (FOMC) คณะกรรมการที่คอยกำหนดนโยบายการเงิน ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และปริมาณการซื้อสินทรัพย์

จากทั้งหมดนี้ หน่วยงานที่คนคุ้นหูคุ้นตามากที่สุด คือ FOMC ที่คอยจัดประชุมปีละ 8 ครั้ง และมีอำนาจชี้ขาดในการปรับอัตราดอกเบี้ย

 

นโยบาย FED กับผลกระทบต่อตลาดการลงทุน

นโยบาย FED กับผลกระทบต่อตลาดการลงทุน 

แน่นอนว่า นโยบายการเงินของ Fed ที่ต้องการควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจจะต้องส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการทำธุรกรรม ซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ต้องใช้เงินดอลลาร์จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แล้วนโยบาย Fed ส่งผลต่อตลาดการลงทุนอย่างไร? คำตอบก็คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ส่วนมากล้วนมีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นอเมริกา อีกทั้ง ยังทำธุรกรรมด้วยเงินดอลลาร์เป็นหลัก ดังนั้น ตลาดหุ้นจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากข่าวตัวเลขเงินเฟ้อที่ถูกประกาศออกมาก่อน หากเงินเฟ้อสูง Fed ก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตลาดหุ้นก็จะตอบสนองด้วยการปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

ตลาดการเงิน นับเป็นอีกตลาดที่ได้รับผลกระทบมาก เพราะอย่าลืมว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นค่าเงินหลักที่ถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนมากที่สุด อีกทั้ง ยังถูกใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งหรืออ่อนค่ามากจนเกินไป ก็จะกระทบต่อค่าเงินอื่น ๆ รวมถึงเศรษฐกิจภายในของประเทศนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน

ดังที่กล่าวไป จะเห็นได้ว่า นโยบายการเงินของ Fed นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ, ค่าเงิน, ผู้ประกอบการ, นักลงทุน และผู้บริโภคต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดที่กล่าวไปนั้น นับเป็นตลาดแรกที่ได้รับผลกระทบสูงสุด อย่างไรก็ดี โปรดทราบว่า ทุกการทำธุรกรรมด้วยเงินดอลลาร์ล้วนได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

โดยสรุป Fed นับเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีอิสระจากการเมืองค่อนข้างสูง อีกทั้ง ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก เพราะทุกย่างก้าวและทุกการขยับตัวของ Fed ล้วนส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก ดังนั้น การรายงานแถลงการณ์ของ Fed แต่ละครั้ง จึงถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุน และผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ดี แม้ว่า Fed จะเป็นหน่วยงานที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง แต่อย่าลืมว่า ไม่มีสิ่งใดสามารถการันตีผลการดำเนินงานของประธาน Fed ได้ แม้กระทั่งประธานที่ทำผลงานได้ดีมาตลอดก็เช่นกัน เพราะสภาวะตลาดสามารถแปรผันได้ตลอดเวลา ตามปัจจัยต่าง ๆ ดังนัก นักลงทุนจึงควรใช้ดุลยพินิจประกอบการลงทุน ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยง

 

Source: Federalreserve, Federal Reserve History, Stlouisfed, Newyorkfed, Money.usnews, Frbsf

____________________________________________
อัพเกรดความรู้เพิ่มเติม: Blog
รู้เท่าทันข่าว&สถานการณ์โลก: Forex News
บทวิเคราะห์เชิงเทคนิคขั้นสูง: Technical Analysis
Tags:

Forex News

TECHNICAL ANALYSIS